เดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นเดือนที่ท้าทายสำหรับ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีน
เพราะหากนับการระบาดระลอกที่สาม เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน เท่ากับว่า เวลานี้ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดครบ 2 เดือนเต็มๆ
แต่ในขณะเดียวกัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย ประเทศไทยยังต้องนั่งนับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเกินหลักพันกันมากกว่า 1 เดือน เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิต ที่นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้เห็นตัวเลขหลักหน่วย หรือเป็นศูนย์
และดูเหมือนว่า การออกจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สามไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อยังมีผู้ป่วยอาการหนักร่วมนับพันราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีกหลายร้อยราย
ขณะที่การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่า น่าจะคลี่คลายได้ แต่มาถึงตรงนี้ยังไม่มีสัญญาณที่จะไปถึงจุดนั้น
แน่นอนว่า ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในอาการทรงกับทรุดไปเรื่อยๆ ผลกระทบจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงมิติด้านสาธารณสุข มิติทางเศรษฐกิจ แต่ยังขยายออกไปในหลายมิติของประเทศ
เช่นเดียวกับเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ที่ตลอดเดือนพฤษภาคม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เผชิญปัญหานี้ในหลายกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดสรรหาวัคซีนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ล่าช้า ไม่ทันการณ์ ไร้การวางแผนเผชิญเหตุ หรือระบบการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ เรื่อยไปถึงเรื่องของระบบการเข้าถึงวัคซีนและการลงทะเบียนของประชาชน ที่เกิดปัญหานับครั้งไม่ถ้วน
เดือนมิถุนายนคือ ไทม์ไลน์ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเอาไว้ว่า จะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ถึงวันนี้สิ่งที่รัฐบาลยืนยันได้เพียงอย่างเดียวคือ มีมาแน่นอน แต่จำนวนเท่าไหร่นั้นจนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครการันตีได้ชัดๆ เลย
ในขณะที่ประชาชนเอง กำลังจับจ้องวันที่ 7 มิถุนายนนี้เป็นอย่างมาก หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยระบุว่า จะมีวัคซีนเข้ามา ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของรัฐบาลตอนนี้คือ ความคาดหวังจากประชาชน เพราะหากต้องผิดหวังซ้ำๆ อีกครั้ง ปฏิกิริยาด้านลบของคนในสังคมต่อรัฐบาลจะยิ่งมากขึ้นไปอีก
แม้ในสัญญาของแอสตร้าเซนเนก้า จะระบุว่าจะส่งมอบในเดือนมิถุนายนโดยไม่ได้ระบุวัน แต่เมื่อรัฐบาลได้เคยให้ความหวังเรื่องวันที่ 7 มิถุนายนไปแล้ว ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงแรงกระเพื่อมได้หากผลลัพธ์ในวันดังกล่าวไม่ได้เป็นดังที่มุ่งหวัง
และต่อให้มีวัคซีนเข้ามาจริง แต่มันไม่ได้มากพอที่จะกระจายออกไป ย่อมเกิดปัญหาเรื่องความเป็นธรรมตามมาอีกเช่นกัน ดังจะเห็นสัญญาณที่ออกมาก่อนหน้านี้ หลังมี ส.ส.และนักการเมือง ออกมาโวยวายเรื่องความลักลั่นของการจัดสรรในแต่ละพื้นที่
จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักอาจไม่พอใจที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ หรือจังหวัดที่แม้ไม่มีการแพร่ระบาด แต่ย่อมตัดพ้อว่าพวกเขารักษามาตรการป้องกันดี จึงคู่ควรแก่การได้รับการจัดสรรมากพอเช่นกัน ซึ่งไม่ว่าแบบไหน รัฐบาลจะต้องจัดสมดุลให้ดี
เหนือสิ่งอื่นใดคือ ช่วงตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเผชิญปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน กลุ่มที่จะได้รับการฉีดวัคซีนนอกเหนือไปจากบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะประเด็นการลงทะเบียนที่กลับไปกลับมาหลายรอบ ทั้งวอล์กอิน และแอปพลิเคชันหมอพร้อม ดังนั้น รัฐบาลมีบทเรียน รู้จุดบกพร่อง ย่อมต้องไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวอีก
เพราะหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น หรือเลวร้ายสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่หนักกว่าเดิม แล้วยังต้องเจอปัญหาขาดแคลนวัคซีน ผสมโรงกับระบบที่ไม่พร้อม แต่ประชาชนพร้อม มันจะเป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างแน่นอน
รัฐบาลเองมีบทเรียนเรื่องสถานการณ์ที่วิกฤติมาตลอด 2 เดือน เห็นปัญหาในทุกมิติ ทั้งการจัดการ กระบวนการ และการสื่อสาร ซึ่งเป็นเวลาเรียนรู้ที่มากพอจะนำมาแก้ไข
แต่หากปัญหามันยังวนลูปเดิมเหมือน 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่สถานการณ์แพร่ระบาดที่วิกฤติ แต่รัฐบาลก็จะวิกฤติด้วย.