นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีมติสำคัญคือการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยในส่วนของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประกอบด้วย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าโคกสูง จ.สระแก้ว เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดงภูพาน จ.มุกดาหาร เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดงชมภูพาน จ.สกลนคร เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาไม้กระทู้-เขาน้ำอุ่น จ.กำแพงเพชรและนครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาคอก-เขาสอยดาว จ.นครสวรรค์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเวียงเชียงชื่น จ.แพร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทรายมาน จ.เชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังเพลิง จ.ลพบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากลัดหลวง จ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ้านโรง จ.เพชรบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพุสวรรค์ จ.เพชรบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่ายางน้ำกลัด จ.เพชรบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่าสามพระยา จ.เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยแม่เพรียง จ.เพชรบุรี เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลิม จ.ลำปาง
รมว.ทส.กล่าวต่อว่า ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูสีฐาน จ.มุกดาหารและกาฬสินธุ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริก-ยอดมน จ.อุบลราชธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.นครสวรรค์
นายวราวุธกล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ยังผ่านความเห็นชอบให้ “นกชนหิน (Helmeted Hornbill)” เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทยด้วย โดยขณะนี้ประเมินว่าประชากรนกชนหินทั้งหมดในประเทศไทยมีไม่เกิน 100 ตัว อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง คือ 1.อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี 2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และ 3.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง ซึ่งมีแผนการสำรวจประชากรในปี 2564 ทั้งนี้ นกชนหิน ถือเป็นต้นตระกูลของเหล่าบรรดานกเงือกแห่งภาคพื้นทวีปเอเชีย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยอยู่ในป่าดงดิบ และกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศไทย โดยเหตุผลที่จำนวนประชากรของนกชนหินเหลือน้อยลงมาจากการคุกคามของมนุษย์อย่างต่อเนื่องและมีความต้องการจากตลาดค้าสัตว์ป่า.