รบ.เร่งแก้วิกฤตโรคระบาดหมู ฟาร์มร้องระงม อ้อนปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ พยุงธุรกิจ อย่าซ้ำเติมคุมราคา-ควรเน้นมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ
นาทีนี้ปัญหาที่ดูท่าจะหนักกว่า โควิด-19 ก็คือ วิกฤตโรคระบาดหมู ที่ทำให้เกษตรกรแทบจะเลิกกิจการ โดยโรค PRRS หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจ ส่วนโรค ASF หรือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกร ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากกําจัดโรคได้ยากและยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด โรคระบาดหมูลามไม่หยุด พบเสี่ยงสูง 50 จังหวัด โดยล่าสุดโรคได้ลุกลามลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง-สุราษฎร์ธานี เริ่มปรากฏหมูป่วย-ตายต่อเนื่อง ด้านหนึ่งผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่เชื่อว่า หมูตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF แต่กรมปศุสัตว์ยัง “ไม่ยอมรับ” การระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย และยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ เมื่อจำนวนผู้ผลิตลดน้อยลง จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้จำนวนฟาร์มเลี้ยงหมูลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กลไกตลาด มีหมูไม่เพียงพอ ซึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงหมูที่เสียหาย ก็ต้องการนำกำไรส่วนของฟาร์มที่รอดจากติดโรค มาขยายการผลิต แต่ก็ยังติดกับดักการควบคุมราคา ทำให้เกษตรกรถูกผลกระทบสองต่อ นอกจากจะเสียหายจากโรคระบาดแล้ว หมูที่ขายได้ ยังถูกควบคุมราคา ทำให้ในอนาคตจะไม่มีผู้ประกอบการรายเล็กเหลืออยู่ ดังนั้น รัฐบาล ควรเร่งออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และปลดเพดานควบคุมราคาสุกร เพื่อให้เกษตรกรประคองตัวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ถือว่า รองนายกจุรินทร์ จุรินทร์นำ “เกษตร-พาณิชย์” เข้าใจปัญหา และ เตรียมผลักดันมาตรการ แก้ปัญหาให้เกษตรกร โดยอาศัยหลักกลไกตลาด ที่เมื่อเกิดโรคระบาด สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งเสริมผู้ประกอบการ เร่งเพิ่มซัพพลาย์ ผ่อนปรนมาตรการควบคุม หันมาเน้นมาตรการการส่งเสริม และเยียวยา รวมถึงการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกร ไม่ต่างกับผู้ประสบภัยวิกฤตโควิด แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตโรคระบาดในหมู และ การประคองผู้ประกอบการให้อยู่รอดนั้น ถือเป็นความสำคัญอันดับแรก ส่วนเกษตรกรที่ยังรอดจากโรคระบาดหมู ก็ควรส่งเสริมให้มีรายได้เพียงพอไปขยายกำลังการเลี้ยง เพราะหลายประเทศในเอเชีย กำลังประสบปัญหาเดียวกันคือ เนื้อหมูไม่เพียงพอ ซึ่งในต่างประเทศราคาขึ้นไปเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ประเทศไทย ต้องเตรียมการส่งเสริมให้เร็วที่สุด รวมถึงมาตรการให้องค์ความรู้ และ มอบโอกาสให้ฟาร์มที่พลาดไปแล้ว สามารถมีโอกาสที่สอง กลับมาทำธุรกิจเลี้ยงหมูอีกครั้ง ก่อนหวาดผวา หันไปทำธุรกิจอื่น
ทั้งนี้เชื่อกันว่า การระบาดของโรคดังกล่าวได้ขยายวงกว้างไปถึง 50 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงหมูในจังหวัดราชบุรี ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร มีปริมาณการเลี้ยงสุกรกว่า 2 ล้านตัวต่อปี ทั้งที่ อ.ปากท่อ และ อ.โพธาราม โดยการระบาดน่าจะมาจากการสั่งซื้อลูกสุกรจากต่างพื้นที่เข้าไปเลี้ยง
ล่าสุดพบว่าเชื้อไวรัสได้กลายพันธุ์จากเดิมทำให้หมูมีอัตราการตาย “ช้าลง” กว่าช่วงแรกที่พบการระบาดในจังหวัดเชียงรายเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ที่หมูตายช้าลงทำให้เจ้าของฟาร์มรีบเทขายหมูมีชีวิตออกไปนอกพื้นที่ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้โรคระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่กรมปศุสัตว์มีประกาศเฝ้าระวัง การเคลื่อนย้ายหมูข้ามเขตต้องมีใบรับรองการตรวจโรคชัดเจนและตั้งด่านตรวจ
แต่ก็ยังลักลอบนำสุกรที่มีโรคเคลื่อนย้ายออกไปต่อเนื่องในทุกภาค ทำให้โรคได้ลุกลามเข้าสู่ฟาร์มระดับกลางและระดับใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฟาร์มระบบเปิดและระบบปิด หลายฟาร์มในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดโรต่างเร่งเทขายสุกรออกมา เพราะเกรงจะควบคุมโรคไม่อยู่
น.ส.สมร อินทร์ภักดี ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ขณะนี้ทางภาคใต้ได้ยกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังในการป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะโรค PRRS ที่ได้เกิดระบาดขึ้นที่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่สีแดงแล้ว
และล่าสุดโรคระบาดได้แพร่ลงมายังพื้นที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 ทางปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ จ.พัทลุง ได้เข้าไปทำลายสุกรในฟาร์มรายย่อยยกฟาร์มไปจำนวนหนึ่ง
“ผู้เลี้ยงหมูตื่นตระหนกรีบเทขายหมูจนราคาร่วงลงมาที่ 71-72 บาท/กก. จากราคา 80 บาท/กก. เพราะถ้าตรวจพบว่าติดโรคระบาดเพียงตัวเดียวจะต้องถูกทำลายหมดยกทั้งฟาร์ม จะสร้างเสียหายอย่างขนานใหญ่ ในส่วนสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์จังหวัดพัทลุงมีสมาชิกประมาณ 2,070 ราย”
มีรายงานข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงเข้ามาว่า สำนักงานปศุสัตว์เขต 8 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ได้มีการแจ้งประกาศไปยัง 11 อำเภอของ จ.พัทลุงแล้ว เพื่อยกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังโรคระบาด PRRS พร้อมได้ลงพื้นที่ทุกจุดเสี่ยงทำการสืบสวนโรคระบาดเพื่อป้องกันโรคที่อาจจะขยายพื้นที่ออกไป ทั้งนี้ สาเหตุที่ติดโรคระบาด PRRS ขึ้นที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง มาจากการซื้อพ่อพันธุ์หมูจากต่างพื้นที่เข้ามา
ล่าสุดทางสำนักงานปศุสัตว์ อ.บางแก้ว และปศุสัตว์ อ.เขาชัยสน ได้ออกประกาศ “เขตโรคระบาดชั่วคราว” ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกนอกพื้นที่ คือที่หมู่ที่ 12 บ้านทวดทอง ต.โคกสัก อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และหมู่ที่ 5 บ้านท่าควายตก ต.โคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง สำหรับที่หมู่ที่ 12 บ้านทวดทอง ต.โคกศักดิ์ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง สุกรได้รับความเสียหายประมาณ 40 ตัว ส่วนใหญ่จะเป็นลูกสุกร อายุประมาณ 20-30 วัน ส่วนเกษตรกรเจ้าฟาร์มสุกรได้รับความเสียหายจำนวน 1 ราย
นายเดชา จิตรภิรมย์ ปศุสัตว์จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้พบการแพร่ระบาดของโรค PRRS ในสุกรที่ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเลี้ยงใหญ่ของสุราษฎร์ธานี และทำลายหมูไปแล้วประมาณ 500 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมูจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากกว่า 10 ฟาร์ม
ขณะนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ช่วยดำเนินการในพื้นที่ มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยจุดที่เกิดโรคยังอยู่ในรัศมีที่ควบคุมอยู่ ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสุกรรวมทั้งหมูขุนและแม่พันธุ์ ประมาณ 200,000 กว่าตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 3,485 ครัวเรือน แบ่งเป็น ลูกเล้าของบริษัทใหญ่ประมาณ 200 ฟาร์ม เฉลี่ยไม่เกิน 100 ตัว/ครัวเรือน