“บิ๊กตู่” ไฟเขียว 1 เม.ย. ลดวันกักตัวเข้าไทย แบ่งสามกลุ่ม “7 วัน-10 วัน-14 วัน” ไทยพบผู้ติดเชื้อ 42 ราย กังวลปรากฏการณ์ติดเชื้อในครอบครัว ศบค.กระจายวัคซีน อสม. บุคลากรด่านหน้าแนวชายแดน สธ.ถวายการฉีดวัคซีนโควิดพระสงฆ์วัดใน กทม. “เจ้าคุณธงชัย-เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรฯ” นำร่อง 2รูปแรก
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 5 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 18 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากเซาท์ซูดาน 2 ราย ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาหรือไม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 28,868 ราย หายป่วยสะสม 27,426 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,343 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 94 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 128,796,905 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 2,815,896 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้มีการหารือกันถึงการติดเชื้อที่ จ.สมุทรปราการ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงอายุ 28 ปี ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 มี.ค. จากการสอบสวนโรคพบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 ราย โดย 1 ใน 5 ราย ติดเชื้อเป็นหญิงอายุ 25 ปี ซึ่งผู้ติดเชื้อรายที่สองนี้ได้ไปสัมผัสคนรอบตัวและคนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 ราย นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกยังแพร่เชื้อไปติดสามีและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานยังได้แพร่เชื้อไปยังน้องสาวและลูกชายอายุ 1 ปี 7 เดือน รวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก ปรากฏการณ์การนำเชื้อไปแพร่คนใกล้ตัวและครอบครัวลักษณะนี้เริ่มเห็นต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับที่ศูนย์กักบางเขน ที่ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เบื้องต้นมีตำรวจติดเชื้อ 3 นาย และบุคลากรของศูนย์ ที่มีทั้งแผนกครัวที่ต้องปรุงอาหาร บริการอาหารให้กับผู้ถูกกัก ผู้ทำความสะอาด แม่บ้าน คนครัว ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วง จึงทบทวนแผนกระจายวัคซีน โดยจะกระจายวัคซีนไปให้บุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ด้วย รวมถึง อสม. บุคลากรด่านหน้า อย่างในพื้นที่ที่มีผู้อพยพข้ามแดนเข้าในขณะนี้ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัด จากเดิมมีการกระจายครอบคลุม 22 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง จังหวัดเศรษฐกิจ จังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดแนวชายแดน จึงจะกระจายครอบคลุมไป 52 จังหวัด มีทั้งจังหวัดขนาดเล็ก จังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษด้วย นอกจากนี้ สำหรับวัคซีนล็อตใหญ่จะกระจายให้ครบ 77 จังหวัดในเดือน มิ.ย.
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.เปิดเผยว่า ได้มีการประชุม ศบค.ชุดเล็ก หารือเรื่องมาตรการผ่อนคลายการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้ ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องกักตัว 14 วัน จากนี้จะมีการกักตัวแยกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่งจะมีการกักตัวเพียง 7 วัน หากเป็นชาวต่างชาติจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 14 วันก่อนการเดินทางแล้ว, กลุ่มที่สอง รับการกักตัว 10 วัน กลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ถึง 14 วันก่อนการเดินทาง หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 2 โดส, กลุ่มที่สาม เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานสายพันธุ์กลายพันธุ์ กลุ่มนี้จะต้องมีการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เช่น สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล อังกฤษ หรือในอนาคตอาจมีสายพันธุ์ที่เพิ่มเติม ทั้งสามกลุ่มนี้จะมีการนับเวลาของวันเริ่มที่เที่ยงคืนถึง 6 โมงเย็น หมายความว่าหากเดินทางมาถึงประเทศไทยตอน 18.00 น. จะนับวันเดินทางที่เดินทางถึงเป็นวันที่หนึ่งในการเข้าสู่สถานกักกัน แต่ถ้าเดินทางถึงประเทศไทยเวลา 19.00 น. จะนับวันที่หนึ่งของการกักตัวเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มาถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ มีการทบทวนเรื่องการตรวจค้นหาเชื้อต่างชาติก่อนที่จะเดินทาง จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และยืนยันไม่มีรายงานการติดเชื้อคือเป็นลบ จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศ กลุ่มนี้จะตรวจผลโควิด-19 ครั้งที่หนึ่งในวันที่ 5-6 แต่สำหรับกรณีคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน ซึ่งไม่ได้มีการตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง จะมีการตรวจหาโควิดแบบสวอปตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงประเทศไทย และตรวจอีกครั้งในวันที่ 5-6 นี่คือกลุ่มกักตัว 7 วัน ส่วนกลุ่มที่มีการกักตัว 10 วัน จะมีการตรวจโควิด-19 สองครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 3-5 และตรวจอีกครั้งวันที่ 9-10 ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีการกักตัว 14 วัน จะมีการตรวจหาโควิดโดยวิธีการสวอปสามครั้ง ครั้งที่หนึ่งคือวันที่เดินทางถึงประเทศไทยในวันแรก, ครั้งที่สองในวันที่ 6-7 และครั้งที่สามคือวันที่ 12-13 ทั้งนี้ ทุกกลุ่มยังมีกำหนดด้วยว่าจะต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วัน ถึงแม้ว่าจะออกจากสถานกักกันไปแล้ว นี่คือข้อสรุปในเบื้องต้นที่จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. หากได้รับความเห็นชอบ จะมีการประกาศใช้ในวันที่ 1 เม.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ ที่ประชุม ศบค. ที่มีนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน? ได้เห็นชอบตามที่? ศบค.ชุดเล็กเสนอ เรื่องมาตรการผ่อนคลายการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และการตรวจค้นหาเชื้อชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ตามที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังกล่าว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการพบกับผู้แทนบริษัทแอสตราเซเนกาถึงการผลิตวัคซีน ว่า บริษัทแม่ของแอสตราเซเนกาชื่นชมไทยที่สามารถผลิตวัคซีนได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ส่วนหนึ่งเพราะการยึดมั่นในขั้นตอนการผลิต ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนอย่างเคร่งครัด ทำให้ผลได้ตามเป้าที่วางไว้ การผลิตวัคซีนมีความคืบหน้าไปมาก ต่อจากนี้เหลือเพียงขั้นตอนของสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งการขึ้นทะเบียน และการรับรุ่นการผลิต ขณะเดียวกันทางบริษัทแอสตราฯ ย้ำว่าเมื่อการผลิตวัคซีนพื้นฐานได้ตามเป้า เตรียมคิดค้นผลิตวัคซีนสูตรอื่น เช่น วัคซีนป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกา ซึ่งหากสำเร็จพร้อมพัฒนาร่วมกัน
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ยอดการกระจายวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30 มี.ค. แบ่งเป็นการกระจายวัคซีนในซิโนแวค 190,720 โดสไปใน 13 จังหวัด แอสตราเซเนกา 85,800 โดส และฉีดไปแล้ว ทั้งสิ้น 180,477 โดส แบ่งเป็นวัคซีนเข็มแรก 151,413 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 29,064 โดส ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนเพิ่มเติมมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยวัคซีนล็อตที่ 2 จำนวน 800,000 โดส จะกระจายไปใน 22 จังหวัด แบ่งเป็น 6 จังหวัด ในการควบคุมโรค 8 จังหวัด ในจังหวัดท่องเที่ยว และอีก 8 จังหวัดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแนวชายแดน 8 จังหวัด รวม 640,000 โดส อีก 160,000 โดส เป็นการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ อสม.
ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร และสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดโครงการถวายการฉีดวัคซีนโควิด-19 แด่พระสงฆ์จากวัดในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ มีพระสงฆ์เข้ารับถวายการฉีดวัคซีนจำนวน 70 รูป โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์และสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีเข้ารับถวายการฉีดวัคซีนนำร่อง 2 รูปแรก เป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกา
นายสาธิตกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่การระบาดและพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัด ตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์-30 มีนาคม 2564 รวม 180,477 โดส โดยเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 151,413 โดส และเข็มที่ 2 จำนวน 29,064 โดส สำหรับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เนื่องจากมีความใกล้ชิดประชาชน จำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดความรุนแรง ลดการป่วย และการเสียชีวิตจากโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดหน่วยบริการฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นศูนย์กลางวัดในเขตสัมพันธวงศ์มีทั้งหมด 9 วัด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มีพระสงฆ์เข้ารับบริการการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 151 รูป ในจำนวนนี้ มีอายุ 18-59 ปี 10 เดือน จำนวน 124 รูป และอายุมากกว่า 59 ปี 10 เดือน จำนวน 27 รูป โดยจัด 8 ขั้นตอนตามมาตรฐาน ตั้งแต่การคัดกรอง ซักประวัติ ไปจนถึงการสังเกตอาการ 30 นาทีหลังฉีด มีทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด พร้อมรถพยาบาลส่งต่อ และจะฉีดให้พระสงฆ์ใน กทม.และจังหวัดอื่นต่อไป
สำหรับพระสงฆ์ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา ส่วนพระสงฆ์อายุ 18- 59 ปี จะได้ฉีดวัคซีนซิโนแวค โดยเริ่มจากพระสงฆ์สูงอายุและที่อาพาธในโรงพยาบาลสงฆ์ ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับพระสงฆ์ใน 6 เขตกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี ที่ติดกับจังหวัดสมุทรสาครต่อไป.