เรียกว่าขณะนี้ชาวไทยทั่วประเทศ ต่างยังส่งแรงใจไปช่วยพ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร ในการต่อสู้กับ วิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังยืดเยื้อมาตั้งแต่ 17 ธ.ค.63 หลังพบกลุ่มผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้ง อ.เมืองสมุทรสาคร ก่อนจะแพร่ระบาดไปทั่ว จนก้าวเข้าสู่เดือน ก.พ.64 แล้วแต่ยังไม่ยุติ ขณะที่หลายจังหวัดทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มจะลดระดับดีกรีความคุมเข้ม ยอมคลายล็อกไปบ้างแล้ว
แต่ยังคงยกเว้นพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ ศบค.ยังจำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมสูงสุดอยู่เช่นเดิม ! โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง ความเสียหาย ณ เวลานี้แทบจะไม่ต้องบรรยายว่าเสียหายมหาศาลเพียงใด ชาวบ้านทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการโรงงานต่าง ๆ ยังคงร่วมแรงร่วมใจยอมเสียสละร่วมมือกับภาครัฐคุมเข้มเชื้อโควิดมาอย่างต่อเนื่อง ย่างเข้าสู่เดือนที่สองแล้ว
ทุกฝ่ายยอมเจ็บปวดแล้วก็ต้องร่วมกันลุยฝ่าจบปัญหาให้ได้ สถานการณ์ภาพรวมตอนนี้ก็ถือว่าเริ่มเห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์แล้วเช่นกัน หลังจากสามารถกระชับพื้นที่ให้เจ้าเชื้อโควิดเข้ามาอยู่ภายในวงจำกัด
ยุทธการ “ทลายรังปลวก” ลุยตรวจเชิงรุก
จังหวัดสมุทรสาคร มีอยู่เพียง 3 อำเภอ คือ อ.เมือง กระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว ภาพรวมขณะนี้ กระทุ่มแบน กับบ้านแพ้ว แทบจะไม่พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว หลังใช้มาตรการเชิงรุก ยุทธการทลายรังปลวก ตระเวนเข้าไปตรวจหาเชื้อแรงงานต่างด้าวและประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุก ๆ จุด มาตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.64 จึงเหลือพื้นที่ของตัวอำเภอเมือง มีทั้งหมด 18 ตำบล เหลือเพียง 2-3 ตำบลเท่านั้น ที่ยังพบยอดผู้ติดเชื้อรายวันในระดับที่สูง เนื่องจากเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ มีแรงงานต่างด้าว ระดับกว่า 10,000 คน อยู่ประมาณ 3-4 แห่ง พบว่ามีแรงงานจากโรงงานเหล่านี้ประมาณ 8,000 รายมีผลเป็นบวกเท่ากับ 60% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด คือจากตัวเลขแรงงานที่ทำการตรวจทั้งหมดประมาณ 150,000 ราย พบเชื้อประมาณ 15,000 ราย (ณ วันที่ 7 ก.พ.64) เท่ากับ 10% ที่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ตามโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานเกินกว่า 200 คนขึ้นไปวันละ 10,000 รายตามยุทธการทลายรังปลวกตั้งแต่วันที่ 23-31 ม.ค.เป็นต้นมา
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญนอกจากการตรวจเชิงรุกแล้ว ยังดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขที่นำมาใช้กับจังหวัดสมุทรสาคร คือ กระบวนการ บับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble&Seal) มาช่วยในการควบคุมแรงงานจำนวนมากให้อยู่ในแผนบับเบิ้ล คือ ควบคุมการเดินทางไป-กลับระหว่างที่พักและโรงงานตั้งแต่เช้าเย็นไม่ให้แวะระหว่างทาง นอกจากนี้อีกส่วนก็จะใช้แผนซีล กับโรงงานที่มีพื้นที่เหมาะสมก็ให้ใช้ชีวิตการกินอยู่หลับนอนทำงานอยู่ในโรงงานเท่านั้น
อย่างไรก็ดีผู้ติดเชื้อแรงงานต่างด้าวเกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่สภาพร่างกายแข็งแรงดีแทบทั้งสิ้นจึงไม่แสดงอาการป่วยออกมาแต่ก็จำเป็นต้องคัดแยกเด็ดขาดออกมาจากกลุ่มแรงงานที่ไม่ติดเชื้อเสียก่อนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยจุดที่รองรับผู้ติดเชื้อนอกจาก โรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่มีทั้งหมด 8 แห่ง รองรับได้ 3,000-4,000 คนแล้ว ทางผู้ประกอบการโรงงานยังมี ศูนย์ห่วงใยแรงงาน สถานที่กักตัวภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่เรียกว่า เอฟเอคิว (Factory Quarantine)และโรงพยาบาลสนามในโรงงานเรียก เอฟเอไอ (Factory Isolation) รวมประมาณ 4,000 เตียง
ตีกรอบคุมเข้มระวังพิเศษ “2 ตำบล”
ทีมข่าว 1/4 Special Report ติดต่อสัมภาษณ์ นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รอง ผวจ.สมุทรสาคร รักษาราชการ ผวจ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ถึงประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครที่ออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เนื่องจากว่าทางจังหวัดต้องการที่จะให้ประชาชนทั้งพ่อแม่พี่น้องชาวไทยและแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ให้เข้าใจถึง กระบวนการบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble&Seal) เป็นระยะเวลา 28 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลท่าทราย และ ตำบลนาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สำหรับมาตรการนี้ไม่ได้หมายถึงว่า จะใช้กับสถานประกอบการทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ แต่จะใช้ควบคุมเฉพาะ สถานประกอบการ หรือ โรงงาน ที่เป็นโรงงานเป้าหมายประมาณ 13 แห่ง เนื่องจากโรงงานขนาดใหญ่ มีแรงงานต่างด้าวและหอพักจำนวนมาก
รักษาราชการ ผวจ.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า สาระสำคัญว่าด้วยการยกระดับให้พื้นที่ของตำบลท่าทรายและตำบลนาดี เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยกำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ 2 ตำบลต้องปฏิบัติ คือ ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปสถานที่ทำงานหรือกลับจากสถานที่ทำงาน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น,ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะและ DDC care เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม, ให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด, ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดำเนินมาตรการทางการสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยความเห็นชอบคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดสมุทรสาคร อาจจะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือสั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่อ อันตรายหรือโรคระบาดได้ นอกจากนี้ยังให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ให้เช่าพักอาศัยดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขและควบคุม ตรวจตรา กำชับผู้พักอาศัยให้ดำเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กำกับ ดูแล ให้ข้อแนะนำแก่ผู้ประกอบการและแรงงานของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด
นำร่อง “บับเบิ้ลแอนด์ซีล”13 โรงงานใหญ่
นายธีรพัฒน์ รักษาราชการ ผวจ.สมุทรสาคร ยังกล่าวถึง มาตรการ บับเบิ้ล ที่ใช้กับสถานประกอบการหรือโรงงาน ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวพักอาศัยอยู่ภายนอก จึงต้องควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงาน กับที่พักอาศัย ไม่อนุญาตให้แวะกลางทางตรงจุดไหนเมื่อถึงที่พักแล้วก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหสถานเท่านั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าไปมีส่วนร่วมพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคได้ผลจริง ส่วน มาตรการซีล ใช้กับสถานประกอบการหรือโรงงาน ซึ่งมีที่พักอาศัยให้กับแรงงานอยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน นายจ้างก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาเรื่องอาหารต่าง ๆ และความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวันในช่วง 28 วัน หรือสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
นอกจากนี้ยังมีโรงงานเป้าหมายนอกเขตพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ หลายโรงงานก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการเช่นกัน รวม ๆ แล้วในขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีสถานประกอบการ หรือโรงงานขนาดใหญ่ที่ได้เข้าร่วม กระบวนการบับเบิ้ลแอนด์ซีล ประมาณ 13 แห่ง (อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุม 7 แห่ง และนอกเขตพื้นที่อีก 6 แห่ง) ส่วนที่ต้องมีการตีกรอบให้พื้นที่ตามประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังพิเศษนั้น ก็เนื่องจากมีทั้งโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีหอพักจำนวนมาก และมีผู้พักอาศัยจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบให้มีมาตรการการเฝ้าระวังที่สูงขึ้นนั่นเอง
ขณะเดียวกัน นายแพทย์ณเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หลังจากการเปิดยุทธการทลายรังปลวก ตั้งแต่ช่วงวันที่ 25-31 ม.ค. 64 การดำเนินการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ จากนั้นเป็นการจัดระเบียบเรื่องที่พักแรงงานจะเร่งพยายาม
ทำให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับข้อมูลการติดเชื้อโควิดในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบนและอำเภอบ้านแพ้ว ขณะนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมานับสัปดาห์แล้ว แต่การตรวจเชิงรุกยังทำอยู่เช่นเดิม โดยลดจำนวนจากวันละ 10,000 รายเหลือ 3,000 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังมีรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานจำนวน 10 คัน และรถห้องแล็บ 1 คันมาให้บริการตรวจที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร วันละประมาณ 200 ราย (หยุดวันอาทิตย์)
ด้าน นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดิ์ดานุภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่มีแรงงานจำนวนมาก ๆ 13 แห่ง ถึงสาเหตุที่ต้องนำ กระบวนการบับเบิ้ลแอนด์ซีล มาใช้ เพื่อวางมาตรการควบคุมแรงงานที่มีอยู่จำนวนมากแม้ไม่พบเชื้อก็ยังถือว่ามีความเสี่ยง หากยังปล่อยให้ไปพบกับคนอื่นจำนวนมาก มาตรการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนทางผู้ประกอบการได้มีการควบคุมกักตัวแรงงาน 2 รอบเท่ากับ 28 วัน ถ้าหากไม่มีเชื้อก็จะปลอดภัย จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันลดการระบาดของโควิด-19 ในสมุทรสาครให้ได้โดยเร็ว
นับว่าเป็นข่าวดี เมื่อนำทั้งยุทธการทลายรังปลวกตรวจสอบเชิงรุก มาใช้ควบคู่กับกระบวนการบับเบิ้ลแอนด์ซีล โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้เห็นว่าเริ่มควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาดได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรสาคร เหลือพื้นที่ยังต้องคุมเข้มเฝ้าระวังพิเศษ 2 ตำบล ส่วน อ.กระทุ่มแบน และบ้านแพ้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รายวันแล้ว.