ศบค. หวั่นคลัสเตอร์ “โต๊ะแชร์” มหาสารคาม ดันผู้ติดเชื้อเพิ่ม ระบุชัดมีการจัดหลายงาน ชี้ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่ดื่มสุรา ไม่ใส่หน้ากา คุยเสียงดัง ไม่มีการคัดกรอง ไม่มีการสแกนไทยชนะและหมอชนะ
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน กรณีคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ว่า จาก จ.มหาสารคามว่า จากคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ มีผู้ติดโควิดแล้ว 16 ราย และกระจายไปยังจังหวัดข้างเคียง เป็นตัวอย่างที่้พบได้บ่อยๆ
โดยพบว่าผู้ชายคนแรก เดินทางเข้ามาที่ กทม. จากนั้นเดินทางกลับบ้าน จ.มหาสารคาม วันที่ 3 ม.ค. โดยแวะเยี่ยมพี่สาวที่โคราช มีผู้เสี่ยงสูง 8 ราย เมื่อถึงบ้านได้ใช้ชีวิตปกติ เดินตลาดต่างๆ จากนั้นมีงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ 5-6 งานเลี้ยง มีผู้สัมผัส 110 ราย เสี่ยงสูง 78 ราย เสี่ยงต่ำ 32 ราย และกำลังรอผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติม
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเรียนรู้จากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์คือ ผู้ร่วมโต๊ะแชร์ อายุเยอะ 50-70 ปี ต่ำๆ 30-40 ปี เมื่อติดเชื้อและกลับไปถึงบ้านก็ติดเชื้อคนที่บ้านต่อ เช่น ราชบุรี ผู้ติดเชื้อต่อเป็นหลานอายุ 4 เดือน โดยงานเลี้ยงดังกล่าวมีการดื่มสุรา ไม่ใส่หน้ากาก พูดคุยเสียงดังเป็นเวลานาน และเชื่อว่าคงไม่มีการสแกนไทยชนะ และหมอชนะ ทำให้การติดตามสอบสวนโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก
ทำให้เกิดคำถามว่า แม้จะมีการผ่อนคลายแล้วเหตุใดต้องจำกัดการดื่มสุรา ซึ่งศบค.เข้าใจผู้ประกอบการ แต่อยากให้ช่วยเสนอได้หรือไม่ว่าจะดูแลลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างไร ศบค.จะนำมาพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่าเศรษฐกิจก็ต้องดำเนินไป และการควบคุมโรคยังทำได้ เพื่อทำให้การใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการควบคุมโรคได้
“จากข่าวที่เราติดตาม ไม่ได้เป็นงานเลี้ยงเดียว โดยรวมๆจากวันที่ 10-21 ม.ค. มี 5-6 งานเลี้ยง และทำให้มีผู้เสี่ยงสูงและผู้เสี่ยงต่ำ รวมแล้วผู้สัมผัส 110 ราย ตอนนี้จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 ราย เสี่ยงต่ำอีก 32 ราย ซึ่งตรงนี้รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขกำลังรอผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติม” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat