ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 143 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 132 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 2 คน พร้อมจับตาการติดเชื้อในคลัสเตอร์ตลาดสดในจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดตาก หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ (15 ก.พ.64 ) พบผู้ป่วยรายใหม่ 143 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 132 คน ซึ่งมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 64 คน และการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 68คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 11 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 2 คน
ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม 24,714 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,067 คน จากการคัดกรองเชิงรุก 13,990 คน จากผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,647 คน และสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 2,038 คน มีผู้ป่วยหายเพิ่ม 772 คน รวมหายป่วยแล้ว 22,883 คน อยู่ระหว่างการรักษา 1,749 คน เสียชีวิตรวม 82 คน
สำหรับผู้สียชีวิต รายแรกเป็นชายอายุ 62 ปี ค้าขายผักที่จังหวัดอุบลราชธานี มีโรคประจำตัว เบาหวาน โรคไต และความดัน โลหิตสูง เริ่มมีอาการไอแห้ง ไม่มีไข้ ก่อนอาการทรุดลงจากไอมากขึ้น หอบเหนื่อย และปอดอักเสบรุนแรง ส่วนอีกรายเป็นชายไทย อายุ 72 ปี ชาวสมุทรสาคร เป็นพ่อบ้านส่วนใหญ่อยู่บ้าน โดยคาดว่าติดเชื้อจากลูกสาวที่มีประวัติติดเชื้อโควิดที่มาเยี่ยมที่บ้าน
ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63-15 ก.พ.64 จังหวัดสมทุรสาครมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 15,577 คน ส่วนกรุงเทพฯมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 924 คน และจากจังหวัดอื่นๆ รวม 3,103 คน
”สมุทรสาครผ่านการคัดกรองโรงงานขนาดใหญ่แล้ว แต่ยังเหลือการคัดกรองในโรงงานขนาดเล็ก รวมถึตลาดและชุมชนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีไม่มาก”
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ศบค.ยังติดตาม คือการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้อมูลเบื้องต้นเมื่อ 11 ก.พ.64 มีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ผ่านการคัดกรองแล้ว 862 คน พบผู้ติดเชื้อยืนยัน 20 คน และตรวจค้นตลาดชุมชนรอบจุฬาลงรณ์ มีการคัดกรอง 343 คน ยังไม่พบติดเชื้อจากตลาดและชุมชน ต้องรอผลอีก 100 คน
ส่วนการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด สายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ South African Variant รายแรกของไทย เป็นเพศชายไทยอายุ 41 ปี มีโรคประจำตัวเป็นหืด ความดันโลหิตสูง และน้ำหนักเกิน เป็นผู้ค้าพลอยเดินทางไปแทนซาเนีย 2 เดือน ระหว่างอยู่ในแทนซาเนียไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย และเดินทางกลับไทย 29 ม.ค.64 และต่อเครื่องที่เอธิโอเปีย คัดกรองอาการป่วย ณ ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้ป่วยไม่มีไข้ และเดินทางเข้า State Quarantine
”ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในอังกฤษ แอฟริกา ยุโรป และหลายรัฐในสหรัฐและออสเตรเลีย ดังนั้นการคัดกรองผู้เข้าประเทศต้องระวังเข้มข้น”
ส่วนการระบาดกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี สืบเนื่องจากตลาดกลางกุ้งในสมุทรสาคร และช่วง 4-13 ม.ค. มีการติดเชื้อ 43 คน และระดมการดูแล 16 ม.ค.เปิดตลาดปกติ และพบผู้ป่วยรายแรก เป็นชาวเมียนมา เชื่อมโยงสมุทรสาคร ทำงานเป็นผู้ค้าในตลาดตามปกติ
ทางจังหวัดมีการทำ Active Case Finding ตั้งแต่ 9-13 ก.พ.64 รวม 1,333 คน พบผู้ติดเชื้อ 175 คน และเมื่อทีมสอบสวนโรคได้วิเคราะห์การแพร่ระบาดของโรค พบว่าแม้ตลาดดังกล่าวเป็นตลาดเปิด แต่พบความแออัด อากาศไม่ถ่ายเท และผู้ค้าไม่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งนี้มีการตรวจตลาดใกล้เคียงและชุมชนโดยรอบ พบว่าจากปทุมธานี มีรายรายงานติดเชื้อไปอยุธยา เพชรบุรี กรุงเทพฯ นครนายก แพร่ โดยผู้ติดเชื้อเดินทางไปจังหวัดเหล่านี้และมีความเสี่ยงจะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่
”การที่อยู่ในตลาดทั้งผู้เดินทางไปซื้อ หรือผู้ขาย ควรสวมแมสตลอดเวลา เพื่อป้องกันตนเองอย่างเข้มข้น และทางตลาดร่วมกับพื้นที่ ทั้งเทศบาลต้องกำหนดมาตรการชัดเจน โดยเฉพาะการระบุตัวตนคนเข้า-ออกตลาด”
นอกจากนี้ ศบค.ยังมีความเป็นห่วงในพื้นที่จังหวัดตาก จากการพบผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่เป็นพยาบาล ซึ่งคาดว่าติดเชื้อจากผู้ป่วยเพศชายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และหลังจากนั้นพบการติดเชื้อในครอบครัว จากการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วย ได้เดินทางไปชุมชนในตลาดศรีมอย และค้นหาเชิงรุกในหลายพื้นที่ โดยตั้งแต่ 28 ม.ค.-14 ก.พ.64 พบผู้ติดเชื้อรวม 112 คน
ด้าน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 – 12 ก.พ.64 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ได้บูรณาการร่วมกันในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19) บริเวณตลาดสุชาติและอาคารพาณิชย์โดยรอบอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และ ได้ตรวจพนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 34 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารกะบ่าย) เพศชายจำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ ผลพบว่ารติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และหลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ขสม.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยทำการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันที รวมถึง อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถโดยสาร
และทำการตรวจสอบว่า พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่กับพนักงานเก็บค่าโดยสารคนใดบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์เพื่อตรวจหา
เชื้อซึ่งอยู่ระหว่างรอผล