ศบค. เล็งขยายล็อกดาวน์จว.เสี่ยง อีก 14 วัน รับห่วงปชช.แตกรัง กระจายเชื้อพื้นที่อื่น หวั่น มาตรการเข้ม ปชช.ไม่ทำตาม พร้อมเสริมกำลังซีลชายแดนเมียนมา สกัดเข้าเมืองผิดกม.
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รายงานข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (1 สิงหาคม) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เตรียมเรียกประชุม ศบค. ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ในเวลา 13.30 น. โดยที่ประชุมจะปรับเพิ่มมาตรการจากที่กำหนดเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการเดิมที่ใช้ขณะนี้โอเคอยู่แล้ว และจะพิจารณาขยายเวลาล็อกดาวน์พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัดออกไปอีกอย่างน้อย 14 วัน อย่างไรก็ตาม ต้องฟังคณะแพทย์ ประเมินและเสนอขึ้นมาถึงมาตรการขยายล็อกดาวน์ เพราะเป็นห่วงเรื่องเคลื่อนย้ายข้ามเขตพื้นที่ ที่เป็นการกระจายเชื้อ ออกไปยังพื้นที่อื่น
“รู้สึกเห็นใจประชาชน แต่ยอมรับว่าการซีลประชาชนทำไม่ได้ เพราะทุกอาชีพยังคงจำเป็นอยู่ และสิ่งที่ยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติหรือเชิงลึก คือมีประชาชนส่วนหนึ่งเมื่อได้รับวัคซีนไปแล้วขาดความระมัดระวัง การฉีดวัคซีนไม่ให้อาการรุนแรง ไม่ใช่ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติด แต่เมื่อเพิ่มความเข้มของมาตรการ ประชาชน ก็จะไม่ให้ความร่วมมือมากกว่านี้ จนกลายเป็นว่ามาตรการนั้นเสื่อมไป”
รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนแผนการกระจายวัคซีน ในเดือนสิงหาคมนี้ จะเปลี่ยนที่หมายไปพื้นที่จังหวัดแพร่ระบาดหนักอื่นๆ หากการฉีดวัคซีนในกทม.เป็นไปตามเป้า โดยยึดเกณฑ์กลุ่ม 608 คือกลุ่ม ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และสตรีมีครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนข้อเสนอให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคเพิ่มจากอเมริกา ในกลุ่มเด็ก 12-18 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าวไม่สามารถฉีดยี่ห้ออื่นได้ แต่ทีมแพทย์เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าฉีดไปแล้วจะปลอดภัยจึงยังไม่กล้าฉีด ดังนั้นการจัดสรรจะให้กลุ่มแพทย์และกลุ่ม 608 ตามลำดับ โดยตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตที่พบส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่กล้าลงทะเบียนฉีดวัคซีน เนื่องจากเกิดความสับสนของข้อมูลจาก 2 ฝ่าย ดังนั้นสื่อมวลชน จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยนำเสนอข้อมูลของรัฐบาล และตำหนิได้ในเรื่องที่สมควรตำหนิ ไม่ใช่ตำหนิตลอดเพราะจะทำให้คนสับสนได้
นอกจากนั้นจะติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคง การกระทำความผิด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยจากสถิติเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจับกุมได้กว่า 4,300 คน และยังต้องเฝ้าระวังแนวชายแดนติดต่อเมียนมา ระยะทางยาวถึง 2,401 กิโลเมตร เนื่องจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดยังรุนแรง มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อสะสมมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเตรียมเสริมกำลังพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำมากขึ้น
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่