นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ยืนยันถึงจำนวนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดโอมิครอนในขณะนี้มีมากกว่า 205 คนไปแล้วนั้น ซึ่งผนวกกับโอกาสที่เชื้อดังกล่าวจะแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีการเตรียมจัดเฉลิมฉลองกันมากจนอาจจะลืมหรือหย่อนยานมาตรการที่รัฐบาลกำหนดนั้น
แม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา จะออกมายืนยันว่าการจัดงาน ‘เคาต์ดาวน์ปีใหม่’ จะต้องดำเนินการภายใต้มาตรการ covid free setting อย่างเคร่งครัด โดยจำกัดจำนวนคน และตอกย้ำว่า “ทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าอยากได้ก็ต้องช่วยกันทำ” นั้น แต่คำพูดของนายกฯ มิได้กำหนดมาตรการการลงโทษสำหรับผู้ที่จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด
หลายจังหวัดที่เตรียมจัดงานเคาต์ดาวน์อย่างยิ่งใหญ่ อาทิ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา อยุธยา ระยอง ฯลฯ ซึ่งบางจังหวัดจะมีคอนเสิร์ตเชิญนักดนตรีจำนวนมากมาเล่นด้วย ก็ยิ่งทำให้เป็นที่หวาดผวาว่าการใช้มาตรการ covid free setting อย่างเคร่งครัดของ ศบค.หรือของท่านนายกฯ จะทำได้แค่ไหน เพราะทุกจังหวัดมีแต่มาตรการ แต่อาจล้มเหลวในทางปฏิบัติได้ เคยมีตัวอย่างของการจัดคอนเสิร์ตที่ควบคุมไม่ได้มาแล้วที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดเลย สุดท้ายหากการจัดเคาต์ดาวน์แล้วกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 หรือการแพร่ระบาดของโอมิครอนเกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบ เพราะจะเกิดความเสียหายตามมามากมายเหลือคณานับประการ โดยเฉพาะต้องใช้เงินแผ่นดินจำนวนมากไปเพื่อการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าวอีก
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรีและ ศบค. ให้กำหนดมาตรการลงโทษที่เป็นรูปธรรมเป็นการเร่งด่วน สำหรับผู้ที่จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘เคาต์ดาวน์ปีใหม่ 2565’ นี้ด้วย หากภายหลังการจัดงานปรากฎโดยชัดแจ้งว่ามีการใช้มาตรการที่หย่อนยานจนมีการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 หรือการแพร่ระบาดของโอมิครอนเกิดขึ้นในจังหวัดนั้นๆ และผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดด้วยนั่นคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆด้วย ซึ่งหาก ศบค.และนายกฯนิ่งเฉย หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้น สมาคมฯคงต้องนำความไปฟ้องศาลเอาผิด เพราะถือว่าได้เตือนและบอกกล่าวกันแล้ว นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด