สคร. 11 ชวน “ร่วมพลัง ต่อชีวิต เพื่อภารกิจยุติวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากล 2565
สคร. 11 ชวน “ร่วมพลัง ต่อชีวิต เพื่อภารกิจยุติวัณโรค” เนื่องในวันวัณโรคสากล 2565
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ชวนร่วมพลัง ต่อชีวิต เพื่อภารกิจยุติวัณโรค แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้มีอาการสงสัยเข้ารับการตรวจคัดกรองวัณโรค ย้ำ “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย”
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) ในปี 2565 ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ร่วมพลัง ต่อชีวิต เพื่อภารกิจยุติวัณโรค” (Invest To End TB, Save Lives) ซึ่งวัณโรคยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) วัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นนักฆ่าที่อันตรายที่สุดในโลก ในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่า 4,100 คน และเกือบ 28,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรค สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 105,000 รายต่อปี และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคมากถึง 10,000 รายต่อปี การดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกระดับสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด (Vision) คือ “เมืองไทยปลอดวัณโรคเพื่อโลกปลอดวัณโรค” (TB-Free Thailand For TB-Free World)
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อได้ด้วยระบบทางเดินหายใจและติดต่อจากคน
สู่คน สามารถแพร่กระจาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการไอ จาม ทำให้ละอองเสมหะ ฟุ้งกระจาย ล่องลอยอยู่ในอากาศ เมื่อสูดเอาละอองเสมหะที่ปนเปื้อนเข้าไป จะทำให้มีไข้ต่ำๆ เรื้อรัง โดยเฉพาะตอนเย็นและค่ำ มีเหงื่อออกมากตอนกลางคืนถึงแม้อากาศเย็น มีอาการไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ ช่วงแรกจะไอแห้งๆ ต่อมามีเสมหะออกมา บางครั้งมีเลือดปนออกมาด้วย กลุ่มเสี่ยงที่พบป่วยวัณโรคมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย (ผู้สัมผัสร่วมบ้าน) ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัด ผู้ต้องขังในเรือนจำ กลุ่มชาติพันธุ์ตามเขตชายแดน แรงงานต่างด้าว พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ และบุคลากรสาธารณสุข สำหรับผู้ที่รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะไม่แสดงอาการป่วยในทันที แต่จะแสดงอาการเมื่อร่างกายอ่อนแอ ซึ่งเชื้อวัณโรคสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 พบที่ปอด นอกจากนี้ยังพบได้ที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก เยื่อหุ้มสมอง
พญ.ศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่ม ผู้ที่มีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีเหงื่อออกมากผิดปกติในเวลากลางคืน ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ให้รีบมาตรวจคัดกรองวัณโรค ซึ่งวัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการกินยาอย่างน้อย 6-8 เดือน ซึ่งต้องกินยาครบทุกเม็ด ครบทุกมื้อ และควรมีพี่เลี้ยงดูแลการกินยาจนครบการรักษา ที่สำคัญไม่ควรหยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยา ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติม : เอกสาร