29 ม.ค.64 – ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ความคืบหน้าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า หลังจากมีการปูพรมค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 25 -29 ม.ค. พบว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 ม.ค. พบผู้ป่วยจำนวน 187 ราย วันที่ 26 ม.ค. พบ 959 ราย วันที่ 27 ม.ค. 819 ราย วันที่ 28 ม.ค. 756 ราย และล่าสุดวันนี้(29 ม.ค.) 802 ราย ส่วนระดับโลกนั้น ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 ม.ค. สะสม 99.7 ล้านราย วันที่ 26 ม.ค. จำนวน 100.2 ล้านราย วันที่ 27 ม.ค.พบ 100.8 ล้านราย วันที่ 28 ม.ค. พบ 101.4 ล้านราย และวันนี้ 102 ล้านราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยวันนี้ติดเชื้อรายใหม่ 802 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 781 ราย คือ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 89 ราย ซึ่งทั้งหมดมีประวัติไปสถานที่เสี่ยงอื่น มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างสอบสวนโรค และค้นหาเชิงรุกอีก 692 ราย นอกจากนี้ยังมีติดเชื้อจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันทุกประเภท 19 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศกรณีอื่นๆอีก 2 ราย โดยตัวเลขผู้ป่วยสะสม 17,023 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในระลอกใหม่(15 ธ.ค.63-29 ม.ค.64) คือ 12,786 ราย อย่างไรก็ตาม หากแบ่งสัดส่วนการป่วยรอบใหม่พบว่า เพศหญิงพบมากกว่าเกือบร้อยละ 60 หรือ 1.58 เท่า โดยเป็นคนไทยร้อยละ 35.96 เมียนมาร้อยละ 57.52 กัมพูชาร้อยละ 1.07 และอื่นๆอีกร้อยละ 5.45
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ไปโรงพยาบาล(รพ.) ครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีอาการอยู่ที่ครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งไม่มี แต่ที่ไป รพ. ส่วนหนึ่งเพราะเป็นผลมาจากการสอบสวนโรค และได้รับการแนะนำว่า วันไหนต้องไป รพ. ซึ่งตรงนี้จะเป็นคนละกลุ่มจากการค้นหาเชิงรุก ในสถานประกอบการ ในโรงงาน ดังนั้น ในส่วนไป รพ. จำนวนยังไม่มาก ตัวเลขแกว่งขึ้นลงขึ้นอยู่กับการสอบสวนโรค ซึ่งตัวเลขกลุ่มนี้ยังคงตัว
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ในส่วนตัวเลขการคัดกรองเชิงรุกวันนี้ 692 ราย มากที่สุดที่ จ.สมุทรสาคร พบ 686 ราย โดยจำนวนนี้เป็นเพศหญิง 478 ราย เป็นเพศชาย 208 ราย สัญชาติไทย 169 ราย และเมียนมา 517 ราย จะเห็นว่า ระลอกใหม่หลังๆ เปอร์เซ็นต์ผู้หญิงติดเชื้อโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ เกือบร้อยละ 60 ส่วนกรุงเทพมหานคร(กทม.) คัดกรองเชิงรุกพบ 3 รายเป็นชาวเมียนมา นนทบุรี 1 รายเป็นคนไทย สระแก้ว 1 รายเป็นชาวกัมพูชา และระยอง 1 รายเป็นคนไทย
“สำหรับจังหวัดที่พบผู้ป่วยรอบใหม่ตัวเลขสะสมมากสุด ยังเป็นสมุทรสาคร รองลงมาเป็น กทม. ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ จันทบุรี นนทบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นครปฐม เป็นต้น แต่จังหวัดหลังๆก็เริ่มน้อยลง หลายจังหวัดเริ่มไม่พบผู้ป่วยรายใหม่” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงกรณีวัคซีนโควิด-19 ว่าข้อมูลการฉีดวัคซีนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รายงานว่าในประเทศอาเซียน มี 3 ประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว คือ สิงคโปร์ ฉีดเพียงร้อยละ 2 ของประชากร เริ่มเร็วแต่การจะได้วัคซีนทุกที่ต้องสั่งจอง มีลำดับเวลา อินโดนีเซีย เริ่มฉีด 13 ม.ค. ฉีดเพียงร้อยละ 0.14 ของประชากร ขณะที่ เมียนมา ฉีดไปร้อยละ 0.13 ถือว่าน้อยมาก ดังนั้น ประเทศไทยก็ไม่ช้าเกินไป ในหลายประเทศที่ฉีดในเวลาใกล้กัน หากฉีดก่อนก็เป็นข้อมูลให้ประเทศฉีดหลังได้ติดตามว่ามีอาการไม่พึงประสงค์อย่างไร จึงเป็นด้านดีที่เราได้เรียนรู้จากเขา ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าไทยจะช้าไปหรือไม่ เพราะเรามีตารางเวลาเริ่มฉีด กรณีเมาท์ชิลด์(Mouth shield) ที่ปิดเพียงปาก ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด จึงแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยหรือชนิดผ้าจะดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีดีเจมะตูม มีความคืบหน้าอย่างไร นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วมี 29 ราย จากงานเลี้ยง 2 งาน คือที่โรงแรมบันยันทรี และโรงแรมเรเนซอง ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำจะมีการประมวลผลเพื่อนำมารายงานในวันพรุ่งนี้(30ม.ค.) อย่างไรก็ตาม การจัดงานเลี้ยง อยู่รวมกันเป็นเวลานาน โอกาสแพร่เชื้อจะสูงมาก โดยกทม. นอกจากจะมีความเชื่อมโยงกับสมุทรสาครแล้วระยะหลังยังเกี่ยวข้องกับงานปาร์ตี้ด้วย
เมื่อถามต่อว่ากรณีผู้ติดเชื้อในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ที่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 200 ราย มีข้อเท็จจริงอย่างไร นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า กรณีนี้มีความเกี่ยวข้องกับร้านอาหาร 2 ร้าน ที่มีพนักงานติดเชื้อรวม 7 ราย เป็นการติดเชื้อจากข้างนอก แต่ด้วยความร่วมมือของเจ้ากิจการและพนักงาน ยินดีรับการตรวจโดยทางห้างฯ ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจให้ ซึ่งจำนวน 200 ราย คือตัวเลขพนักงานที่สมัครเข้ามาตรวจ ไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงสูง แต่เกิดจากความพร้อมของพื้นที่และกิจการในการตรวจพนักงานในห้างฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย