วันศุกร์ ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564, 06.00 น.
สิ้นพ.ย.ฉีดวัคซีนร้อยล้านโดส
เร็วกว่าแผน1เดือน
สธ.เตรียมนำเข้าวัคซีนรุ่น2
ป่วยรายวัน7.4พันตาย57ศพ
แจกATKรร.กทม.ก่อนเปิด15พ.ย.
นายกฯพอใจไทยฉีดวัคซีนเดินหน้าเร็วกว่าแผนเดิมถึง 1 เดือน คาดทะลุเป้าร้อยล้านโดสปลายเดือนพฤศจิกายน สธ.เร่งกระจายวัคซีน 11 ล้านโดส ไปทั่วประเทศ ยอดฉีดสะสมตอนนี้เฉียด 83 ล้านโดส “อนุทิน” ชี้โควิดไทย เริ่มคลี่คลาย วัดจากยอดผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจลดลงต่อเนื่อง แต่ยังวางใจไม่ได้ ต้องเตรียมสำรองยา-วัคซีนมาสต๊อก พร้อมเร่งฉีดบูสเตอร์ เผยสั่งเจรจาจัดหาวัคซีน GEN 2 นำเข้ามาแล้ว ติดเชื้อโควิดลดรายวันเหลือ 7,496 ตาย 57 ราย
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยรายวัน ที่จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนของไทยได้เพิ่มขึ้นใกล้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้เร็วกว่ากำหนด
ติดเชื้อ7,496อาการหนัก1,846
ศบค.ระบุว่า วันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 7,496 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,244 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,942 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 302 ราย มาจากเรือนจำ 240 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,452ราย อยู่ระหว่างรักษา 96,450 ราย อาการหนัก 1,846 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 425 ราย
ตาย57เมืองคอนสูงสุด9คน
เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 57 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 27 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 42 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ในจ.นครศรีธรรมราช 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,996,969 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,880,636 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,883 ราย
ไทยฉีดวัคซีนสะสม82.5ล้านโดส
ส่วนยอดผู้รับวัคซีนของไทยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ฉีดวัคซีนได้เพิ่มเติม 771,469 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ทั้งสิ้น 82,532,531 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 252,111,221 ราย เสียชีวิตสะสม 5,087,996 ราย
สงขลา-เชียงใหม่ยังติด10จว.ติดเชื้อสูงสุด
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 752 ราย สงขลา 496 ราย เชียงใหม่ 391 ราย นครศรีธรรมราช 375 ราย ปัตตานี 355 ราย ยะลา 275 ราย สมุทรปราการ 262 ราย สุราษฎร์ธานี 233 ราย ชลบุรี 222 ราย ระยอง 192 ราย
นายกฯพอใจฉีดเร็วกว่าแผน1เดือน
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ที่เดินหน้าได้รวดเร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้เดิม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ 100 ล้านโดสปลายเดือนพฤศจิกายนเร็วกว่าแผนเดิมถึง 1 เดือน ซึ่งกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังเร่งกระจายวัคซีนในสต็อกทั่วประเทศ โดยจัดส่งไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนถึง 11 ล้านโดส เพื่อเร่งให้ทุกพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย หลายพื้นที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังกว่าร้อยละ 80 แล้ว เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นร.ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว86.5%
ทั้งนี้ แอบพลิเคชันหมอพร้อมรายงานการฉีดวัคซีนสะสมของวันนี้ (11 พฤศจิกายน) จนถึงเวลา 12.18 น. 83,217,981 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็ม 1 ฉีดสะสม 44,777,147 ราย เข็ม 2 ฉีดสะสม 35,758,836 ราย เข็ม 3 ฉีดสะสม 2,678,171รายและเข็ม4ฉีดสะสม 3,827 ราย
นายธนกรยังกล่าวว่า ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนนักเรียนรายภาคจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน จากจำนวนนักเรียนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน 3,866,840คน มีนักเรียนได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,346,723 คน คิดเป็น 86.55% และนักเรียนได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 419,079 คน คิดเป็น 10.84% ต้องขอบคุณผู้ปกครอง นักเรียนที่สมัครใจเข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โรงเรียนมีความปลอดภัย
โควิดคลี่คลายใช้ท่อหายใจน้อยลง
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังสถานการณ์ระบาดโควิด- 19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย สธ.ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบาดในกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ มีรายงานผู้ติดเชื้อเข้ามาทุกวัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้น คือ ยอดผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นลดน้อยลง เช่นเดียวกับยอดสูญเสียก็ลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะเปิดเมือง คลายล็อกแล้วก็ตาม
สธ.ตื่นตัวเจรจานำเข้าวัคซีนGEN2
“ส่วนสำคัญมาจากการฉีดวัคซีนตามเป้า วันนี้น่าจะฉีดได้ถึง 83 ล้านโดส การฉีดปัจจุบันครอบคลุมมากขึ้น เราให้บริการไปถึงเด็กอายุ 12 – 17 ปี และในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ก็ได้ฉีดมีสูตรวัคซีนหลายชนิด ให้เหมาะสมกับประชากร ต้องขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือ ผมลงพื้นที่ภาคใต้ ทราบมาว่าผู้นำชุมชน ช่วยสร้างความเข้าใจคนในพื้นที่ ให้เข้ารับวัคซีน ถือเป็นเรื่องงดงามที่ทุกคนช่วยกัน ขณะที่ อสม.ก็รณรงค์กันทุกวัน ทิศทางไปในทางบวก แต่ยอมรับว่ายังไม่ไว้วางใจสถานการณ์ ยิ่งเมื่อคลายล็อก ต้องคิดเผื่อไว้ ได้สั่งการให้จัดหายา และวัคซีนเข้ามาสต๊อก พร้อมเร่งฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ส่วนยาก็ได้ศึกษาความคืบหน้าจากทีมผู้ผลิตทั่วโลก ตัวไหนดี มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้องพิจารณานำเข้ามา เราต้องมีทางเลือกหลายทาง” นายอนุทินกล่าว
และย้ำว่า วัคซีนมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ควบคุมโรคระบาด เราบรรลุสัญญาจัดหาในปริมาณมาก แต่เมื่อวัคซีนพัฒนา ต่อสู้เชื้อกลายพันธุ์ ประเทศไทย ต้องไม่หยุดนิ่ง เราได้คุยกับทีมวัคซีน เพื่อพิจารณานำเข้าวัคซีน GEN 2 กรณีศึกษา และใช้งานจริงได้สำเร็จ แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ของไทยตกลงใช้ได้ ก็พร้อมนำเข้ามา นี่คือการทำงานของ สธ.ที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอด
แจกATKรร.กทม.ก่อนเปิด15พย.
ขณะที่นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมพญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) นพ.อำนาจ มะลิทอง ผอ.ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน น.ส.พิศมัย เรืองศิลป์ ผอ.เขตบางเขน ลงพื้นที่แจกชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) พร้อมสาธิตวิธีใช้ชุดตรวจให้กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน 169 ราย ก่อนเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ (On site) วันที่ 15 พฤศจิกายน
ห่วงเด็กเล็กยังไม่ได้รับวัคซีน
นพ.จเด็จกล่าวว่า การที่จะจ่ายชุดตรวจเอทีเคให้โรงเรียน เป็นยุทธวิธีป้องกันกระจายเชื้อ และเป็นวิถีใหม่ที่ทำให้นักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กเข้ามาเรียนที่โรงเรียนได้ โดยในกรุงเทพฯมีโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งหมด 437 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดอื่นในกรุงเทพฯ อีก 600 แห่ง รวม 1,037 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับการจัดสรรชุดตรวจเอทีเค 300,000 ชุด
“การที่เด็กเล็กเข้ามาเรียนในชั้นได้ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญมาก เป็นการบ่งบอกถึงการที่เราอยู่ร่วมกับโควิดได้ สิ่งที่เด็กเล็กจะต่างจากเด็กโตคือ ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนยังไม่ได้ปลอดภัย หรือยังไม่ได้รับการรับรอง” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ดังนั้นวิธีที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลครูที่เป็นผู้สอนเด็ก ชุดตรวจเอทีเคจะเป็นสิ่งคัดกรองให้ครูผู้สอน นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนให้ครูผู้สอน
นพ.จเด็จ ยังกล่าวอีกว่า โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์เป็นโรงเรียนสังกัดกทม. ที่ดูแลตั้งแต่เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กเล็ก และจะมีการเปิดเรียนพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ สำหรับชุดตรวจเอทีเคของสปสช. ก็จะมีการกระจายทั้งหมดทุกโรงเรียน
โคราชนร.ติดเชื้อ3ปิดเรียนด่วน14วัน
อีกด้านหนึ่งมีรายงานสถานการณ์ระบาดหลายจังหวัดที่ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด อย่างที่โรงเรียนสุขานารี จ.นครราชสีมา ออกประกาศแจ้งผู้ปกครองนักเรียน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไซต์(On-site) ไปเป็นระบบออนไลน์ เพราะมีนักเรียน 3 ราย ชั้น ป.1/8 , ป.2/6 และ ป.3/7 กลุ่ม B มีผลตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลว่า ติดเชื้อโควิดหลังเพิ่งเปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 3 โรงเรียนแจ้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เป็นออนไลน์อยู่บ้าน 100% ระหว่างวันที่ 11-24 พฤศจิกายน และเร่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในห้องเรียน และจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาด วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาตรวจ ATK กลุ่มเสี่ยงสูง เป็นครู 20 คน เด็กนักเรียน 66 คน ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำที่มีอยู่ประมาณ 200 คน สั่งกักตัวดูอาการอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคทราบว่า เด็กที่ติดเชื้อทั้ง 3 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน มาโรงเรียนพร้อมกัน คาดว่า น่าจะติดมาจากครอบครัวเดียวกัน อาศัยอยู่ในชุมชน ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมาที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชน
5จว.ใต้ติดเชื้อเพิ่ม1,358ตาย8
ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลาและ จ.สตูล ยังเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดอันดับต้นๆของประเทศเป็นเวลา 40 วันติดต่อกัน และยังมีผู้เสียชีวิตอยู่วันละหลายคน โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันที่ 11 พฤศจิกายน 1,358 คน เสียชีวิต 8 คน จ.สงขลา 496 คน เสียชีวิต 2 คน จ.ปัตตานี 355 คน เสียชีวิต 3 คน จ.ยะลา 275 คน เสียชีวิต 1 คน จ.นราธิวาส 190 คน เสียชีวิต 1 คน และจ.สตูล 92 คน เสียงชีวิต 1 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตทุกคนไม่ได้รับวัคซีน
สงขลายังพุ่ง496ที่1ของภาคใต้
โดยจ.สงขลามีผู้ติดเชื้อใหม่ 496 คน อันดับ 2 ของประเทศและที่ 1 ของภาคใต้เสียชีวิต 2 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมจากเดือนเมษายน 53,506 คน เสียชีวิตสะสม 194 คน รักษาตัวในโรงพยาบาล 5,950 คน มาจากกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ได้แก่ ครอบครัวและชุมชนมากที่สุด ขณะที่ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 70.9 % เข็มที่ 2 จำนวน 40.2%
สาเหตุตายส่วนใหญ่ไม่ได้วัคซีน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานแพทย์ชนบท ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลาเปิดเผยว่าขณะนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับวัคซีนโควิดเต็มพื้นที่ แต่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงมาจากประชาชนจำนวนหนึ่งประมาณร้อยละ 25-30 ไม่ประสงค์รับวัคซีน ซึ่งเกือบร้อยเปอร์เซ็นในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้เสียชีวิตจากกลุ่มยังไม่ได้รับวัคซีนและมีโรคประจำตัว บางโรงพยาบาลมีผู้ขอรับวัคซีนวันละ 4-5 คน จึงมีแผนของสาธารณสุขทำงานบูรณาการกับทุกฝ่ายเดินเคาะประตูบ้านบริการฉีดวัคซีน
ปัตตานีปิดรง.เฟอร์นิเจอร์ติดนับร้อย
ที่จ.ปัตตานี มีการสั่งปิดโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออกต่างประเทศที่ อ.หนองจิก 14 วัน หลังตรวจพบพนักงาน 298 ราย ติดเชื้อแล้ว 30 ราย ซึ่งขณะนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดยังต้องเดินหน้าตรวจหาเชื้อพนักงานต่อเนื่อง ทำให้ต้องปิดโรงงานอีก 14 วัน นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมนายอำเภอหนองจิก เร่งเข้าตรวจพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับพนักงานให้กักตนเองภายในโรงงาน โดยทำ Bubble and Seal เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน
น่านปิด2หมู่บ้านคลัสเตอร์บุญข้าวใหม่
ที่จ.น่าน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีคำสั่งปิด 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 5 บ้านสองแคว และหมู่ที่ 14 บ้านใหม่เจริญสุข ต.สะเนียน อ.เมืองน่าน หลังพบระบาดลุกลาม และมีผู้ติดเชื้อแล้ว 80 คน จากคลัสเตอร์พิธีทำบุญข้าวใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงจากผู้ที่มาจากตลาดวโรรส อ.เมือง เชียงใหม่ เดินทางเข้าพื้นที่โดยไม่ลงทะเบียนน่านปลอดภัย และเข้าไปทำกิจกรรม ประกอบศาสนกิจในโบสถ์ ไปร่วมพิธีทำบุญข้าวใหม่ และลงแขกเกี่ยวข้าว และยังมีทีท่าพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยการปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออก 14 วัน มีผลตั้งแต่ 11- 24 พฤศจิกายน เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรค