ศิริราชชี้ใกล้จบโลกปรับ‘โควิด’โรคประจำถิ่น
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ศิริราชเผยทิศทางโลก เริ่มปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น หลัง ‘โอมิครอน’ ไม่รุนแรง เชื่อกลายพันธุ์รุนแรงกว่าเดิมเกิดขึ้นได้ยากแนะรัฐบาลเร่งทำความเข้าใจประชาชน พร้อมชวนคนมาฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน ศบค.เผยป่วยใหม่ทะลุหมื่นสี่วันติด
โควิดทะลุหมื่นสี่วันติด
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อใหม่ถึงหลักหมื่นรายเป็นวันที่สี่ นับจากการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา คือ 10,398 ราย สะสม 2,517,869 ราย หายป่วย 8,922 ราย สะสม 2,401,306 ราย เสียชีวิต 17 ราย สะสม 22,320 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 94,243 ราย มีอาการหนัก 527 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 111 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 20 ราย มาจาก 14 จังหวัด ได้แก่ กทม. พระนคร ศรีอยุธยา สระแก้ว จังหวัดละ 2 ราย, ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย แม่ฮ่องสอน ชุมพร ตรัง นครศรี ธรรมราช สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 7 ราย หญิง 10 ราย อายุ 25-99 ปี ค่ากลางอายุ 71 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและ มีโรคประจำตัว 100%
ส่วน 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 1,897 ราย 2.สมุทรปราการ 983 ราย 3.ชลบุรี 610 ราย 4.นนทบุรี 578 ราย 5.ภูเก็ต 399 ราย 6.นครราชสีมา 341 ราย 7.เชียงใหม่ 212 ราย 8.ปทุมธานี 197 ราย 9.ขอนแก่น 173 ราย และ 10.นครศรีธรรมราช และมหาสารคาม จังหวัดละ 162 ราย ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำ 19 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 202 ราย ใน 35 ประเทศ ซึ่งประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อมาก เช่น รัสเซีย 88 ราย, คาซัคสถาน 27 ราย, ยูเครน 12 ราย, เยอรมนี 8 ราย, ฝรั่งเศส 7 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6 ราย, อินเดีย 4 ราย เป็นต้น ภาพรวมเข้าระบบเทสต์แอนด์โก 21 ราย แซนด์บ็อกซ์ 171 ราย ระบบกักตัว 10 ราย ผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.พ. 36,362 ราย รายงานติดเชื้อ 1,280 ราย คิดเป็น 3.52% แบ่งเป็นระบบเทสต์แอนด์โก 10,592 ราย ติดเชื้อ 66 ราย คิดเป็น 0.62% แซนด์บ็อกซ์ 21,428 ราย ติดเชื้อ 1,101 ราย คิดเป็น 5.14% และกักตัว 4,342 ราย ติดเชื้อ 113 ราย คิดเป็น 2.6%
สำหระบการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 7 ก.พ. ฉีดได้ 385,190 โดส สะสมรวม 117,479,975 โดส เป็นเข็มแรก 52,528,595 ราย คิดเป็น 75.5% ของประชากร เข็มสอง 48,969,726 ราย คิดเป็น 70.4% ของประชากร และเข็มสาม 15,981,654 ราย คิดเป็น 23% ของประชากร
ศิริราชชี้เริ่มเป็นโรคประจำถิ่น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคำว่า ‘Endemic’ ถูกค้นหา ในกูเกิ้ลมากที่สุดในโลก เนื่องจากแต่ละประเทศไปในแนวทางเดียวกัน อย่างยุโรป ติดเชื้อใหม่วันละกว่าแสนราย สเปนก็เพิ่งประกาศไปว่าจะเริ่มผ่อนคลายเต็มที่ ทั้งที่ ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย เพราะเริ่มมีความมั่นใจว่าสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดมา 2 เดือนกว่าแล้ว มีข้อมูลตัวเลขยืนยันว่าติดเชื้อและแพร่ระบาดเร็ว แต่รุนแรงน้อยกว่า เดลตา โดยโอมิครอนทำให้คนนอนร.พ. เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเดลตา อัตราเสียชีวิตก็ลดลง แต่หากติดเชื้อมากผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน อย่างคนเสียชีวิตของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส กว่า 3 หลัก พบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ฉีดไม่ครบ หรือมีโรคร่วม
“ข้อมูลทั้งหลายกำลังบ่งชี้ว่ากำลังน่าจะไปสู่ปลายทางของการระบาดโควิด อีกหน่อย จะเหมือนกับโรคหวัดที่ทั่วโลกเกิดเยอะ แต่ไม่ได้จับตาว่าเป็นสายพันธุ์ใด ตราบใด ที่โรคไม่รุนแรงก่อเป็นการเสียชีวิต ดังนั้น โควิดมีหลายอย่างที่เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำถิ่น คือโรคไม่หายไป อีกหลายปี ยังเจออีกแต่มีบางอย่างที่พอจะคาดการณ์ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ไวรัสโควิดอาจกลายพันธุ์ไป แต่ก็จะอยู่กับเราต่อไป เพราะโอกาสที่จะรุนแรงหรือแพร่เร็วกว่า โอมิครอนตามทฤษฎีถือว่าโอกาสน้อยมากๆ แล้ว โควิดจะก่อเรื่องก็ต่อเมื่อสายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่าและแพร่เร็วกว่า แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เราอาจจะได้ยินใหม่อีก แต่ก็จะขึ้นมาแล้วหายไป ตราบใดที่โอมิครอนยังครองโลก เมื่อคนติดแล้วไม่เสียชีวิต ก็มีภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นคนมีภูมิก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก ขณะนี้การทำความเข้าใจประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การดูเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ เช่น พุ่งอีก พุ่งไม่หยุด จะทำให้เกิดความกลัว ตื่นตระหนก หรือเกิดอารมณ์ร่วม ซึ่งขณะนี้โควิดเลยจุดที่รุนแรงจากตอน เดลตาแล้ว จึงต้องมาดูเรื่องตัวเลขผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และ เสียชีวิตมากกว่า พร้อมสื่อสารให้คนมารับวัคซีนมากขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนที่ติดแล้วไม่เสียชีวิต สุดท้ายเชื้อก็จะสงบลงไปโดยปริยาย
ครม.อนุมัติ 3 พันล.เพิ่มเงินอสม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค โควิด-19 ในชุมชน วงเงินจำนวน 3,150 ล้านบาท โดยจะนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่อสม. 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 10,577 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,050,306 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาทจากภาระงานปกติ
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ อสม.และ อสส.ร่วมดำเนินการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563
ที่จ.เชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจ.เชียงใหม่ ก่อนลงนามคำสั่ง ปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว หลังพบการติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน 3 แห่ง ประกอบด้วย ร้านลาบลุงคำ หมู่ที่ 8 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว เป็นระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 – 11 ก.พ., หอพักป้าบัวจันทร์ ลุงทองอิน เลขที่ 94/1 หมู่ที่ 7 ต.สันผักหวาน อ.หางดง เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-13 ก.พ. และพื้นที่บ้านสหกรณ์ 6 หมู่ที่ 6 ต.บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 – 13 ก.พ. พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค
โคราชวุ่นติดเชื้อในสถานศึกษา
ที่ จ.นครราชสีมา ศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีนักศึกษาภาคปกติ คณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เพศหญิง 3 คนติดเชื้อโควิด เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากการซ้อมรำกับผู้ป่วยรายที่ 112-116 และ 120-121 ของมหาวิทยาลัย ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน 124 ราย เป็นบุคลากร 14 ราย นักศึกษา 102 ราย บุคลากรภายนอก 8 ราย รักษาหาย 108 ราย กำลังรักษา 16 ราย สำหรับนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมนาฏศิลป์ติดเชื้อสะสม 10 ราย ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณสถานที่เสี่ยง และขอให้บุคคลซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าข่ายสัมผัสที่ได้เข้าไปใน สถานที่เสี่ยงหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อให้รักษาระยะห่างจากบุคคลใกล้ชิด สังเกตอาการของตนเองเป็นพิเศษ และกักตัวเองจนครบ 14 วัน ทั้งนี้หากมีอาการผิดปกติให้รีบติดต่อศูนย์แพทย์, รพ.สต. หรือ ร.พ.ใกล้บ้าน และขอให้แจ้ง รายชื่อต่อหน่วยงาน/คณะ ที่สังกัด/อาจารย์ที่ปรึกษามายังมหาวิทยาลัยอย่างเร่งด่วน
ด้านนายสมเกียรติ ชิดไธสง ผอ.สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 5 (สพป.นม.5) เปิดเผยว่า มีโรงเรียน ในสังกัด 209 แห่ง ขยายโอกาส 72 แห่ง สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดพบติดเชื้อรายใหม่ 33 ราย เป็นนักเรียน 30 ราย ครูและบุคลากร 3 ราย, ผู้ป่วยสะสม 209 ราย เป็นนักเรียน 187 ราย ครู 21 ราย บุคลากร สพป.นม.5 อีก 1 ราย ทั้งนี้กำลังรักษา 65 ราย เป็นนักเรียน 62 ราย ครู 3 ราย รักษาหาย 144 ราย ขณะนี้ จัดรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไซต์ 161 แห่ง เรียนแบบออนไลน์ 33 แห่ง เรียนแบบ ผสมผสาน 19 แห่ง
ขณะที่ ศบค.นครราชสีมารายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดต่อ ร้ายแรงในพื้นที่ 32 อำเภอของจังหวัด พบผู้ป่วยรายใหม่ 334 ราย เป็นการติดเชื้อนอกพื้นที่ 11 ราย และติดเชื้อในพื้นที่ 323 ราย ป่วยสะสม 40,346 ราย รักษาหาย 37,547 ราย ยังรักษาอยู่ 2,496 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 2 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 72 ปี ต.มิตรภาพ อ.สีคิ้ว และชายไม่ทราบ อายุ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง ทั้งสอง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต สะสม 303 ราย
ขอนแก่นปิดวัดหนองแวง 7 วัน
ที่วัดหนองแวงพระอารามหลวง เขตเทศบาลนครขอนแก่น ทางวัดได้นำป้าย มาติดปิดไม่ให้ ประชาชนได้เข้าไปภายในพระบรมธาตุ 9 ชั้น และกุฏิของพระสงฆ์และเณร เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 13 ก.พ.65 หลังจากพระสงฆ์และเณรภายในวัด ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 14 รูป
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเย็นของวันนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขจากเทศบาลนครขอนแก่น และสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น จะเร่งทำ ความสะอาดภายในวัด และการสอบสวนโรคตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด ขณะที่ในวันนี้ขอนแก่นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 173 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา 3,410 ราย ซึ่งคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข อย่างเข้มงวด
นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้การให้บริการ วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มกับกลุ่มอายุระหว่าง 5-11 ปี ตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดนั้น มีความคืบหน้าอย่างมาก ตามรอบการจัดสรรวัคซีนซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก หรือที่เรียกว่าวัคซีนฝาสีส้มให้กับ จ.ขอนแก่น อย่างต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ ทำให้อัตราการเร่งฉีดวัคซีนตามการยินยอมของผู้ปกครองนั้นมีอย่างต่อเนื่องทุกวัน จากการตรวจสอบข้อมูลนักเรียนในกลุ่มอายุ 5-11 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 130,000 คน ซึ่งขณะนี้ผู้ปกครองได้ยินยอมให้เด็กๆ เข้ารับการฉีดแล้วกว่าร้อยละ 70 หรือประมาณ 80,000 คน
ปิดวัด – วัดหนองแวง พระอารามหลวงของจ.ขอนแก่น ประกาศปิดวัด 7 วัน ระหว่างวันที่ 8-14 ก.พ. หลังตรวจพบพระเณรติดเชื้อโควิดแล้ว 15 รูป พร้อมมีคำสั่งห้ามพระเณรออกบิณฑบาตนอกวัด เมื่อวันที่ 8 ก.พ.
สงขลาชวนฉีดวัคซีน
ที่ จ.ภูเก็ต ศบค.ภูเก็ต รายงานว่า พบ ผู้ติดเชื้อ รายใหม่ 566 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 413 ราย ผู้ติดเชื้อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 150 ราย ผู้ติดเชื้อ test & go 3 ราย หายป่วยกลับบ้าน 471 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 18,808 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในจังหวัด 13,723 ราย ติดเชื้อโครงการรับกลับบ้าน 0 ราย ผู้ติดเชื้อรับจากต่างจังหวัด 3 ราย ผู้ติดเชื้อต่างประเทศ 8 ราย ผู้ติดเชื้อแซนด์บ็อกซ์ 4,371 ราย ผู้ติดเชื้อ test & go 703 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย ขณะนี้ยังรักษาตัวใน โรงพยาบาล 4,510 ราย
ที่ จ.สงขลา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยว่า จำนวน ผู้ป่วยโควิดของอำเภอจะนะได้เชิดหัวขึ้นอย่างชัดเจน อีกครั้ง วันนี้เป็นวันแรกหลังปีใหม่ที่ผู้ป่วย โควิดนอนรักษากักตัวเกิน 100 คน และหากใครประสงค์ฉีดวัคซีนตามเงื่อนไขที่กระทรวงกำหนด เชิญได้ที่จุดฉีดโรงเรียนหอประชุมใหม่โรงเรียนบ้านนา อ.จะนะ แม้วัคซีนจะกันติดได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากภูมิสูงสามารถป้องกันการเจ็บป่วยและลดการแพร่กระจายเชื้อแก่คนอื่นได้แน่นอนครับ
ชุมพรให้เปิดสนามไก่ชน
ที่ ร.พ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไฟเซอร์ สำหรับเด็กนักเรียนอายุ 5-11 ปี สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช มีโรงเรียน 1,380 โรง มีนักเรียน 2 แสนกว่าคน นักเรียน 5-11 ปี ประมาณ 134,000 คน ซึ่งจังหวัดได้รับจัดสรรวัคซีนสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี 34,500 กว่าโดส การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปีในวันนี้
ที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผวจ.ชุมพร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชุมพร ครั้งที่ 19/2565 โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ชุมพร มีมติเห็นชอบให้กิจกรรมการเล่นหรือแข่งขันไก่ชน กัดปลา แข่งม้า ชนโค ชกมวย และแข่งนก ตาม พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 เปิดดำเนินการได้ โดยต้องตามเงื่อนไข 7 ข้อ ตามแนวทางปฏิบัติของสถานที่ และกิจกรรมตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19
สระแก้วพบคลัสเตอร์รพ.
ที่จ.สระแก้ว นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สระแก้ว เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 121 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อ ในจังหวัด 110 ราย ติดเชื้อนอกจังหวัด 8 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 ราย รักษาหาย 83 ราย กำลังรักษา 637 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดมาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล การตรวจเชิงรุก เฝ้าระวังในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ อ.วังน้ำเย็น 50 ราย อ.เมืองสระแก้ว 14 ราย อ.อรัญประเทศ 13 ราย อ.วัฒนานคร 10 ราย อ.คลองหาด 9 ราย อ.โคกสูง 7 ราย อ.วังสมบูรณ์ 4 ราย อ.เขาฉกรรจ์ 2 ราย และอ.ตาพระยา 1 ราย ทำให้จังหวัดสระแก้วมีผู้ป่วยยืนยันจากการระบาดระลอกใหม่ 2565 สะสม 1,959 ราย รักษาหายสะสม 1,306 ราย เสียชีวิตสะสม 8 ราย ส่วนคลัสเตอร์ใหม่กรณีโรงพยาบาลวังน้ำเย็น ตรวจพบเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ 11 ราย จากการสอบสวนโรคพบบุคลากรดังกล่าวสัมผัสเชื้อจากผู้มารับบริการ ไม่ให้ประวัติเสี่ยงที่สัมผัสผู้ป่วยโควิด เบื้องต้นพบกลุ่มเสี่ยง 30 ราย ติดเชื้อสะสม 14 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มเติมและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโรค ในขณะที่ได้กักตัวกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดแล้ว โดยจะตรวจหาเชื้อรอบสอง และทำความสะอาดจุดสัมผัสและพื้นที่เสี่ยง
ที่จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง สสจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จังหวัดพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ 92 ราย รักษาตัวหาย 90 ราย ยังคงรักษาตัว อยู่ 1,084 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์ขณะนี้พบว่าการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่ง เกิดจากการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น งานแต่ง กิจกรรมทางศาสนา ทำให้มีโอกาสในการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อของโควิด-19 ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จึงได้ออกประกาศ การจัดงานหรือจัดกิจกรรมต้องขออนุญาต การจัดงานหรือจัดกิจกรรม โดยให้ทางอำเภอ เป็นผู้พิจารณา และกำหนดมาตรการ
รัฐบาลฮึ่มฉ้อโกงบ.ประกัน
วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ระบุว่า ขณะนี้ถึงแม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น ถึงหลักหมื่นต่อเนื่อง แต่อัตราของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตยังถือได้ว่าค่อนข้างต่ำ นายกฯ ยังขอประชาชนพยายามระวังตัวเอง โดยเฉพาะจากการสังสรรค์และรวมตัวคนหมู่มาก เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก การป้องกัน ตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิต้านโรค โดยเฉพาะผู้ที่เป็น กลุ่มเสี่ยง ส่วนที่มีกระแสข่าวการซื้อไม้สว็อบ จากผู้ที่ติดโควิด หวังติดเชื้อเพื่อเคลมประกันนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจงใจทำเพื่อหวังเคลมเงินประกัน ยังถือว่ามีความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย เป็นความผิดทางอาญา ขณะที่ภาคธุรกิจประกันภัย ก็สามารถใช้เวลา ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โดยจะไม่ถือเป็นการประวิงการจ่าย สินไหม เพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย
หนุ่มปทุมฯฉีดวัคซีนเข็ม 2 ดับ
เวลา 17.30 น. วันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.เกรียงไกร แสงยศ สารวัตรเวร (สอบสวน) สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ รับแจ้งมีผู้เสียชีวิตภายในบ้านพักชลประทานรังสิต บ้านเลขที่ 517/119 หมู่ 1 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่เกิดเหตุเป็นบ้านพักพนักงานชลประทานรังสิต สำนักเครื่องจักรกลเครื่องสูบน้ำแห้ง (รังสิต) พบศพนายจรัญ ประยุวา อายุ 35 ปี สอบสวนทราบว่า ผู้ตายทำงานช่างล้างแอร์ได้ไปฉีดวัคโควิดซฺโนฟาร์มเข็ม 2 มาเมื่อเช้าวันที่ 7 ก.พ. ที่แพทย์รังสิต หลังจากฉีดบ่นว่าปวดแขนมากและรู้สึกเมื่อย จึงขอลาหยุดงานนอนอยู่บ้านทั้งวัน จนมาพบนอนเสียชีวิตในเวลา 16.00 น. ทางญาติและเพื่อนๆ เชื่อการเสียชีวิตมาจากการฉีดวัคซีน โดยผู้ตายมีโรคความดันเมื่อครั้งที่ไปฉีดเข็มแรกความดันสูงเลยไม่ได้ฉีด ต้องเว้นระยะไปและลงชื่อใหม่ในหมอพร้อมเมื่อวัดความดันปกติจึงได้ฉีดเมื่อเดือนก่อน ตอนไปฉีดเข็ม 2 ไม่ได้วัดความดันกลับมาบ่นทำให้จิตใจไม่ค่อยดี มีอาการปวดแขนที่ฉีด และปวดเมื่อย
ด้านพ.ต.ท.เกรียงไกร แสงยศ สารวัตรสอบสวน ได้บันทึกภาพที่เกิดเหตุไว้เป็นหลักฐานเบื้องต้นแพทย์ได้ให้ทางเจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิร่วมกตัญญูได้นำศพส่งโรงพยาบาล ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตอีกครั้ง