วันพุธ ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564, 15.03 น.
องคมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประจำปี 2564 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานฝนหลวงและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 1/2564 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรต่อเนื่องจากปี 2563 ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
โดยความก้าวหน้าการดำเนินงานจากปี 2563 จำนวน 3 ด้าน มีผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
-ด้านการปรับโครงสร้างอัตรากำลังของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะนี้ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 195 อัตรา ส่งผลให้มีอัตรากำลังในปัจจุบัน แบ่งเป็นข้าราชการ 311 อัตรา พนักงานราชการ 347 อัตรา ลูกจ้างประจำ 110 อัตรา รวมทั้งสิ้น 768 อัตรา
-ด้านความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินงานระยะที่ 1 ในส่วนของการปรับพื้นผิวถางวัชพืชเพื่อปรับระดับพื้นที่ก่อสร้าง ดำเนินการลงหินคลุกบดอัดแน่น การปูยางทางวิ่ง A/C Hot Mixed ความหนา 10 เซนติเมตร พร้อมชั้นฐาน และการขุดคูระบายน้ำหรือคูดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2
-ด้านโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดทำแผนการก่อสร้างอาคารในระยะที่ 1 (ปี 2565-2567) ประกอบด้วย ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน พิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง
โรงเก็บสารฝนหลวง บ้านพัก อาคารอเนกประสงค์ ส่วนในระยะที่ 2 (ปี 2566-2568) จะดำเนินการก่อสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ห้องปฏิบัติการเมฆฟิสิกส์ ห้องปฏิบัติการเคมี และอาคารฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการร่างแบบสถาปัตยกรรมของงานก่อสร้าง เพื่อขอตั้งงบประมาณปี 2566-2568
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมหารือวางแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 และติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศไทย ที่ขณะนี้ยังคงมีปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่า 30% ส่วนการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศ สนับสนุนด้านอากาศยานและกำลังพลในการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาและยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ โดยเมื่อครั้งที่ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ อยู่นั้น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) ซึ่งติดตั้งชุดอุปกรณ์การทำฝนที่ได้พัฒนาสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 ลำ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้ในการสนับสนุนภารกิจฝนหลวง
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยผลปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2564 ปฏิบัติการไปแล้วรวม 29 วัน 345 เที่ยวบิน มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 38 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 43.68 ล้านไร่ และทำให้มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 32 แห่ง รวมทั้งปฏิบัติภารกิจใช้เฮลิคอปเตอร์ตัดน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ (ตอนบน) รวม 15 วัน 222 เที่ยวบิน ตักน้ำได้ 111,000 ลิตร
กรมฝนหลวงฯ ช่วยดับไฟป่า-หมอกควันภาคเหนือ
นางนรีลักษณ์ วรรณสาย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไฟป่าบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยที่ส่งผลให้ค่าคุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 วัน 38 เที่ยวบิน สามารถช่วยเหลือพื้นที่ 7 จังหวัดที่ประสบปัญหาดังกล่าว ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา กำแพงเพชร แพร่ และตาก รวมถึงยังปฏิบัติการโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำดับไฟป่า จำนวน 15 วัน 222 เที่ยวบิน รวมปริมาณน้ำ 111,000 ลิตร ช่วยเหลือ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่และลำพูน
ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่า 30% เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ปรับแผนตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 13 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ดังนี้-ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก ตั้งฐานเติมสารที่ จ.แพร่-ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.กาญจนบุรี ลพบุรี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.นครสวรรค์-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ขอนแก่น-ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.จันทบุรี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ระยอง-ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่ จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี ตั้งฐานเติมสารที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 21 มีนาคม 2564 โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หมอกควันไฟป่า ยั้งยับพายุลูกเห็บ และเติมน้ำในเขื่อน จำนวน 27 วัน 334 เที่ยวบิน มีจังหวัดรายงานฝนตก 37 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 53.70 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 32 แห่ง โดยเป็นเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 18 แห่ง