เกษตรกร‘อินทรีย์’นครปฐม – นับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ในปี 2563 ผู้คนทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป “อรุณี พุทธรักษา” ประธานศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ต.ทัพหลวง อ.เมือง จ.นครปฐม ก็เป็นผู้หนึ่งที่ประสบปัญหา
ผลผลิตที่เคยขายได้ในตลาดสุขใจลดจำนวนลง จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มที่มีสมาชิก 10 คน โดยนำผลผลิตเหล่านั้นมาปรุงทำเมนูต่างๆ ไว้บริการลูกค้าที่ต้องการมารับประทานอาหารอินทรีย์ในบรรยากาศบ้านสวนที่ร่มรื่น เรียกว่านอกจากจะได้กินอาหารอินทรีย์อร่อยๆ ได้ดื่มด่ำกลิ่นอายบ้านทุ่งแล้ว ยังได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
คุณอรุณี หรือพี่ณีของน้องๆ สรุปความเป็นมาก่อนมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯ ว่า ก่อนหน้านี้ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ พอวันหนึ่งอิ่มตัวในการทำงานนี้แล้ว เลยคิดว่าอาชีพที่จะเลี้ยงตัวเองได้ตลอด คืออาชีพเกษตร รวมดูแลพื้นที่ทั้งหมด 15 ไร่ เพราะเช่าพื้นที่ป้าอีก 4 ไร่จากของครอบครัวที่มี 11 ไร่ เพราะไม่อยากให้คนอื่นมาใช้เคมีในแปลงนี้ โดยออกจากงานประจำปลายปี 2553 พอปี 2554 เริ่มทำเกษตรอินทรีย์จริงจัง
พร้อมนำผลผลิตไปเปิดท้ายขายผักที่สนามจันทร์ ซึ่งมีคนรักสุขภาพมาออก กำลังกาย ติดป้ายผักอินทรีย์ กระทั่งมีโอกาสไปเจอตลาดสุขใจของ คุณโอ “อรุษ นวราช” เลยเข้าไปขายที่นั่นจนถึงทุกวันนี้ โดยกลุ่มจดเป็นวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อ “เกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์”
จุดเด่นของกลุ่มคือ เน้นเรื่องความซื่อสัตย์เป็นหลัก แต่ต้องมีรายได้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะสมาชิกที่ทำเกษตรอย่างเดียว ต้องมุ่งมั่นว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะต้องมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวให้ได้
คุณอรุณีบอกว่า 10 ปี ของการทำเกษตรอินทรีย์เจอปัญหามากมาย เริ่มจากการทำนา 7 ไร่ได้ผลผลิตแค่นิดเดียว ถือว่าขาดทุนแต่ปลอบใจตัวเองว่ายังดีมีข้าวกินไม่ต้องไปซื้อข้าวอินทรีย์ราคาแพงๆ กิน จำเป็นต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ อย่างเช่นถอนหญ้าไม่ไหว เลยปรับเป็นนาบัว โดยทำนาข้าว 3 ไร่ นาบัว 4 ไร่ พอทำนาบัวหนอนเยอะ คิดว่าทำอย่างไรให้ข้าวเหลือน้อยเอาแค่พอกิน ซึ่งก็มีหุ้นส่วนที่จ่ายเงินเพื่อจะได้ข้าวอินทรีย์กินด้วย
ในส่วนนาบัวมีปัญหาหนอนเยอะ แมลงเยอะ ลงไปเก็บลำบาก น่ากลัวเเละอันตราย จึงปรับลดพื้นที่นาบัวลง หันมาทำนาผักบุ้งแทน ส่วนนาบัวแทนที่จะเป็นปลูกบัวหลวงอย่างเดียวก็เพิ่มบัวสาย เก็บสายไว้ใช้ต้มกะทิสายบัวปลาทู แต่นาข้าวก็เจอปัญหาอีกเพราะปูกินหมด สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการเลี้ยงปู
ใช้เวลาเลี้ยงปู 1 ปี นึ่งแล้วทำน้ำจิ้มซีฟู้ดไปขาย ได้ราคาดี ขายก.ก.ละ 300 บาท แต่หากขายปูสดๆได้ก.ก.ละ 100-150 บาท ถ้าคนที่ซื้อไปแปรรูปส่งเมืองนอกให้ก.ก.ละ 100 บาท ใช้พื้นที่ทำนาปูไม่ถึง 1 ไร่ มีกระเบื้องกั้นอยู่ ถัดมาทำนาข้าว และนาบัว
หลังจากเข้าร่วมกับสามพรานโมเดลในการนำผักผลไม้อินทรีย์ไปขายที่ตลาดสุขใจแล้ว ก็ทำเรื่องท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ด้วย โดยทางกลุ่มส่งผลผลิตให้กับทางร้านสีฟ้าและโรงแรมในกรุงเทพฯ แต่พอมาเจอโควิด-19 ร้านอาหารและโรงแรมไปไม่ได้ ทำให้วิถีต้องเปลี่ยน เมื่อยอดซื้อลดลง จะระบายของอย่างไร พอดีช่วงโควิดใหม่ๆ ขายออนไลน์ดี แต่หลังโควิดเริ่มซาไปซื้อของที่ตลาดได้ก็หยุดเรื่องขายของออนไลน์ พอมาโควิดรอบสองปลายปีที่แล้ว ขายออนไลน์ไม่ค่อยดี ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ได้ จึงไปร่วมมือกับ “โลเคิล อร่อย” โดยนำพืชผักที่ขายไม่หมดนำมาปรุงทำอาหาร
คุณอรุณีให้ข้อมูลอีกว่า ล่าสุดได้พูดคุยกับทางโครงการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ของทางสามพรานโมเดล เพื่อทำให้ครบวงจร โดยเปิดคอร์สอบรม มีทั้งหลักสูตร 1 วันและ 3 วัน 2 คืน และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ทำอย่างไรให้พื้นที่น่านั่งและให้บรรยากาศความเป็นอินทรีย์ เพราะคนที่ชอบแนวนี้จะชอบความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปตกแต่งอะไรมาก เช่น ทำนาอยู่อาจจะทำที่นั่งกินบริเวณนา ถ้าอยากทานอาหารออร์แกนิกก็ทำให้ นำวัตถุดิบที่มีอยู่นำมาใช้ด้วยและได้ขายผักด้วย เป็นการท่องเที่ยวด้วยกินอาหารไปด้วย เป็นการเที่ยววิถีชีวิตของกลุ่ม เกษตรกรจริงๆ ที่จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือบ้านพัก ซึ่งอาจต้องมาจากแรงงาน เช่นเปิดคอร์สอบรมการทำบ้านดิน ตั้งเป้าว่าอยากจะมี 3 หลัง ปีละ 1 หลัง
อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีพักแบบกางเต็นท์นอน และบ้านดิน 1 หลัง รับคนได้ไม่เยอะเท่าไหร่เต็มที่ได้ 5-6 คน ที่นี่เป็นแนวฟาร์มสเตย์มากกว่า เพราะคนที่มาจะได้เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ด้วย
ทั้งนี้การปรุงอาหารคาว-หวานของที่นี่ ส่วนใหญ่แล้วคุณอรุณี เป็นคนลงมือเอง จะมีญาติพี่น้องมาช่วยบ้าง ซึ่งเท่าที่ลิ้มลองเมนูทั้งหลายแล้วต้องบอกว่าอร่อยทุกอย่าง ที่สำคัญเป็นวัตถุดิบที่นำมาจากในสวนนี้ทั้งนั้น แต่บางอย่างนำมาจากเครือข่าย เมนูเด็ดที่นำเสนอมีพิซซ่า ยำถั่วพลู ยำตะไคร้ สลัด และน้ำพริกปลาย่าง ฯลฯ ที่ผ่านมาก็มีลูกค้าสนใจเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง ซึ่งในระยะนี้เป็นลูกค้าที่มาจองอาหารเย็น เพราะยังอยู่ในช่วงโควิด จึงยังไม่รับแขกมาพัก ค้างคืน
สนใจศึกษาดูงานศูนย์การเรียนรู้ฯหัวใจอินทรีย์ หรืออยากจะทานอาหารเกษตรอินทรีย์ ติดต่อคุณณีได้ที่โทร. 08-1665-1374 หรือเข้าไปดูกิจกรรมของกลุ่มได้ที่เพจ “ปลูกไว้กิน เก็บไว้ขาย”
นับเป็นเกษตรกรอินทรีย์อีกกลุ่มที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากผู้ปลูกพัฒนาเป็นเชฟเสิร์ฟอาหารเด็ด
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง