เริ่ม 1 เม.ย.นี้ ลดวันกักตัวเดินทางเข้าไทย แยก 3 กลุ่ม น้อยสุด 7 วันคนรับวัคซีนครบโดส ยอดกระจายวัคซีนรอบ2รายจังหวัด ศบค.ห่วงคนทำงานนำเชื้อแพร่ในครอบครัว
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 31 มี.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย พบจากระบบเฝ้าระวัง 19 รายในจ. สมุทรสาคร 8 ราย กทม. 8 ราย สมุทรปราการ 3 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 5 ราย ในจ.สมุทรสาคร 3 ราย กทม.2 ราย ซึ่งจะเห็นว่ามีการติดเชื้อในกลุ่มด็กเล็กด้วย ซึ่งเป็นการรับเชื้อจากคนวัยทำงานในครอบครัวที่ออกไปทำงานปกติ ที่ติดเชื้อไม่มีอาการแล้วนำแพร่เชื้อให้สมาชิกในครบยอครวั และเดินทางมาจากต่างประเทศ18 ราย เป็นผู้เข้าสถานที่กักกัน 16 รายและลักลอบช่องทางธรรมชาติ 2 รายจากเมียนมาถูกสกัดจับๆได้ที่แนวชายแดนพบและนำเข้าสถานกักกัน และพบผู้เดินทางจากซูดานใต้ส่งตรวจว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือไม่ด้วย เพราะเข้ามาแข็งแรงดี ไม่มีอาการ แต่พบว่าติดเชื้อ ส่วนผู้ติดเชื้อสะสม 27,426 ราย เสียชีวิตสะสม 94 คน เฉพาะระลอกใหม่ ราย เสียชีวิตสะสม 34 คน
ห่วงคนทำงานนำโควิดแพร่ในครอบครัว
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ศบค.ชุดเล็ก มีการติดตามจ.สมุทรปราการ พบว่ามี 1 คนเป็นผู้ติดเชื้อไม่ระวังตัวนำไปแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง โดยผู้ติดเชื้อรายงานรายแรก เป็นผู้หญิงอายุ 28 ปี มีการตรวจพบติดเชื้อเมื่อ 22 มี.ค. มีการสอบสวนโรคเบื้องต้นมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 ราย กลายเป็นผู้ติดเชื้อต่ออีก 2 ราย คือ สามี และเพื่อนร่วมงานเพศหญิง อายุ 25 ปี ซึ่งรายนี้แพร่เชื้อต่อให้กับน้องสาว ลูกชายอายุ 1.7 ปี และพี่เลี้ยงเด็กติดเชื้อต่อด้วย ปรากฎการณ์นี้เริ่มจะเห็นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนวัยทำงานที่ยังไปในชุมชนระวังตัว แต่มีช่วงจังหวะเผลอเอาหน้ากากอนามัยออกระหว่างรับประทานอาหาร สัมผัสพื้นที่เสี่ยงไม่ได้ล้างมือ ไม่เว้นระยะ พอติดเชื้อเพียง 2 วันก็สามารถนำเชื้อไปแพร่ให้คนใกล้ชิดและคนในครอบอครัวได้
ศูนย์กักตม.ลามติดเชื้อในกลุ่มจนท.
สำหรับกรณีการพบติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในศูนย์กักตม.ที่บางเขน ซึ่งเป็นสถานที่กักกันผู้ที่ถูกจับกุมจาการหลบหนีเข้าเมืองที่มีการรายงานไปแล้วนั้น พบว่ามีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มบุคลากรที่ทำงาน พบว่า มีข้าราชการตำรวจติดเชื้อแล้ว 3 นาย รวมทั้งบุคลากรส่วนอื่น เช่น แผนกครัวที่ต้องปรุงและเสิร์ฟอาหารให้ผู้ต้องกัก แผนกทำความสะอาดแม่บ้าน เป็นต้น
ยอดกระจายวัคซีนโควิด19รายจังหวัด
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด19ของซิโนแวคที่เข้ามารล้อตที่ 2 จำนวน 8 แสนโดสที่จะเริ่มฉีดในเดือนเม.ย.นี้ แยกเป็นกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่ม 22 จังหวัด รวม 640,000 โดส ย่อยเป็น 1.1 ควบคุมการระบาด 350,000 โดส สมุทรสาคร และกทม.จังหวัด 1 แสนโดส ตาก 75,000 โดส ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี จังหวัดละ 25,000 โดส
1.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จังหวัดท่องเที่ยว 8 จังหวัด 240,000 โดส ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ จังหวัดละ 20,000 โดส ขอนแก่น กระบี่ พังงา จังหวัดละ 10,000 โดส อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 50,000 โดส ภูเก็ต 1 แสนโดส
จังหวัดชายแดน 8 จังหวัด 50,000 โดส สงขลา สระแก้ว จังหวัดละ 10,000 โดส เชียงราย มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย และจันทบุรี จังหวัดละ 5,000 โดส โดยจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนครั้งแรกให้ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน
และ2.กลุ่ม 52 จังหวัด รวม 160,000 โดส เพื่อเป็นการเตรียมระบบก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ในช่วงมิ.ย.นี้ โดยให้ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ และอสม.แยกย่อยเป็น
2.1 จังหวัดขนาดเล็ก จำนวนประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จัดสรรจังหวัดละ 1,800 โดส 41 จังหวัด คือ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี นครนายก กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ ชุมพร สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี และยะลา
2.2 จังหวัดขนาดใหญ่ จำนวนประชากร 1-1.5 ล้านคน จัดสรรจังหวัดละ 2,000 โดส 6 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ร้อยเอ้ด สกลนคร สุรินทร์ ชัยภูมิ ศีรสะเกษ
และ 2.3 จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ จำนวนประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จัดสรรจังหวัดละ 2,200 โดส 5 จังหวัด คือ อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช
10 เมืองนำร่องจัดประชุม
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มีการกำหนด 10 เมืองนำร่องในการจัดประชุมในพื้นที่จังหวัดต้นแบบ เพื่อเป็นการทดสอบมาตรการของโครงการและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนการจัดงานใน 10 เมือง โดย ภูเก็ต 5 เม.ย. อุดรธานี 7 เม.ย. เชียงใหม่ 9 เม.ย. พัทยา 30 เม.ย. 2564 และกรุงเทพฯบางพื้นที่ ยังไม่ระบุ ซึ่งกรมอนามัยจะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)เพื่อจัดทำมาตรฐานสำหรับการต่อยอดการจัดประชุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 300 คน ในจังหวัดอื่นๆต่อไป
ลดวันกักตัวเริ่ม 1 เม.ย.
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ศบค.ชุดเล็กได้จัดทำข้อสรุปการลดวันกักตัวเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานผอ.ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ หากเห็นชอบ ก็จะมีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 โดยจะผ่อนคลายมาตรการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย แยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. กักตัวอย่างน้อย 7 วัน กรณีได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง ส่วนการตรวจหาเชื้อ กรณีต่างชาติก่อนเดินทางต้องมีการตรวจยืนยันไม่พบติดโควิด-19 จึงจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ และเมื่อเข้าสู่สถานที่กักกันจะมีการตรวจ 1 ครั้งในวันที่ 5-6 แต่คนไทยที่เดินทางกลับบ้านไม่ต้องตรวจโควิด-19ก่อนเดินทาง เมื่อถึงประเทศไทยจึงจะมีการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ที่ถึงประเทศไทย และตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 5-6
2.กักตัวอย่างน้อย 10 วัน กรณีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ถึง 14 วันก่อนการเดินทางหรือยังไม่ครบ 2 โดส เมื่อเข้าสู่สถานที่กักกันจะมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือวันที่ 3-5 และวันที่ 9-10
3.กักตัวอย่างน้อย 14 วัน กรณีเดินทางมาจากประเทศ/พื้นที่มีรายงานพบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ประกาศ และเมื่อเข้าสู่สถานที่กักกันจะมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือ วันแรกที่เดินทางมาถึง วันที่ 6-7 และวันที่ 12-13
และเมื่อครบระยะกักตัวแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มกักตัวกี่วันยังต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วันแม้ว่าจะออกจากสถานที่กักกันแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแผนกระจายวัคซีนรอบ 2 จำนวน 8 แสนโดสนั้น ศบค.รายงานมี 74 จังหวัด โดยไม่มี 3 จังหวัด คือ นครปฐม สมุทรสงคราม และราชบุรี อย่างไรก็ตาม 3 จังหวัดนี้ได้รับการจัดสรรในรอบที่ 1 ไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยราชบุรีรับไปแล้ว 2,520 โดส สมุทรสงคราม 2,000 โดสและนครปฐม 3,560 โดส