เทคนิคแพร่ตอบโจทย์ #saveบุคลากรทางการแพทย์ ผลิตหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล รับ-ส่งของ ให้คนไข้ที่ติดโควิด-19 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นำไปใช้ในโรงพยาบาลป้องกันการสัมผัส ยืนยันจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 นายกฤตานนท์ ถนอมทรัพย์ทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ พร้อมสมาชิกฯ ร่วมรับชมการทดสอบการใช้งานของหุ่นยนต์ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ได้สนับสนุนงบประมาณในการผลิตให้กับวิทยาลัยเทคนิคแพร่ เพื่อนำส่งมอบให้กับโรงพยาบาลแพร่ เตรียมนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งจะสามารถลดการสัมผัสกับผู้ป่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงติดเชื้อ ให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ โดยจะพัฒนาระบบในการปฏิบัติการไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น หุ่นยนต์รับส่งอาหาร มีขนาด กว้าง 40 ซม ยาว 50 ซม สูง 120 ซม สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม ควบคุมได้ระยะไกลสูงสุด 40 เมตร พร้อมติดตั้งแท็บเล็ตที่ใช้สัญญาณไวไฟเชื่อมต่อ เพื่อสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยได้ สอบถามอาการผู้ป่วยได้ในเบื้องต้น โดยมี นายนายอัศวิน ข่มอาวุธ ผอ.วิทยาลัยเทคนิคแพร่ และทีมผู้ผลิตหุ่นยนต์ ให้การต้อนรับ พร้อมสาธิตการทำงาน และทดลองใช้ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมนำส่งให้กับโรงพยาบาลแพร่ ต่อไป
นายกฤตานนท์ กล่าวอีกว่า ทางสภาอุตสาหกรรมทราบว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคแพร่ ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่ประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ขึ้นมาเพื่อขนส่งเวชภัณฑ์ อาหารให้ผู้ป่วยโควิด-19 เราเล็งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงลดอัตราเสี่ยงการติดเชื้อได้มาก สภาอุตสาหกรรมร่วมทั้งภาคเอกชนได้ร่วมกันเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะทางด้านการเทคนิคหรือทางด้านการเงิน
ด้าน นายอัศวิน ข่มอาวุธ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคแพร่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ที่นำความรู้มาพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน ซึ่งในสภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 วิทยาลัยเทคนิคแพร่ โดยแพร่โดยแผนกอิเล็กทรอนิกส์ และช่างกลโรงงาน ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่บริการส่งอาหารและยา ที่โรงพยยาบาลแพร่ ในอนาคตหลังจากนี้เราได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์อีก 1 ตัว เป็นตัวที่ 4 จะมีความสามารถในการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่ เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อที่มีการระบาด ทำหน้าที่พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อให้
ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคแพร่ กล่าวอีกว่า หุ่นยนต์ก่อนหน้ากับตัวนี้ เหมือนกันตรงที่ ใช้รีโมทคอนโทรลไร้สาย แต่ ตัวที่ 1 และ 2 ไม่สามารถมีสัญญาณภาพและเสียง สำหรับตัวนี้นั้นสามารถสื่อสารผ่านภาพและเสียง ข้อดี คือ ให้ผู้ป่วยได้คุยกับคุณหมอผ่านทางอุปกรณ์ที่ติดตั้ง จะช่วยให้หมอ และบุคลากรทางการแพทย์ลดอัตราการติดเชื้อลง รวมทั้ง จะสร้างอีก 1 อุปกรณ์ที่มีการพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลแพร่ คือ แคปซูล ในการลำเลียงผู้ป่วยระหว่างตึก ไปจุดรักษาอื่นเพื่อป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ
ส่วน นายแพทย์ ดนัย ภัทรเธียรสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่ กล่าวว่า สำหรับอุปกรณ์ช่างใจดีที่จัดทำโดยวิทยาลัยเทคนิคแพร่ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ในการขนส่งอาหาร ยา และสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ช่วยให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเข้าไปใกล้ชิดผู้ป่วยที่สามารถดูแลตัวเองได้ จึงช่วยลดอัตราการกระจายเชื้อ และเพิ่มความปลอดภัย และสะดวกให้เจ้าหน้าที่ อีกครั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากร คือ ชุด PPE ของทางโรงพยาบาล ทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย.