สรุปประกาศขยายเวลาจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและลดอัตราการจ่าย 90 % จากเดิมเม.ย. เป็น มิ.ย. ผ่อนจ่ายได้ 3 เดือน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้ลงประกาศในสื่อต่าง ๆ หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบให้ขยายกําหนดเวลาดําเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นการทั่วไป ออกไปอีก 2 เดือน
เฉพาะการจัดเก็บภาษีประจําปี พ.ศ. 2564 จากเดิมต้องจัดเก็บในเดือนเมษายน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) รุนแรงและส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2563
ประกอบกับ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดําเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจําเป็นทางเศรษฐกิจและเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เช่นเดียวกับที่เคยดําเนินการในปี พ.ศ. 2563
เพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจําปี พ.ศ. 2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องกับระยะเวลาการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2564 ของกระทรวงการคลังดังกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เห็นชอบให้ขยายกําหนดเวลาดําเนินการของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกําหนดเวลาในพระราชบัญญัติภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจําปี พ.ศ. 2564 เป็นการทั่วไป ออกไปอีก 2 เดือน
เพื่อมิให้กระทบสิทธิของผู้เสียภาษี และกระบวนการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีการเลื่อนเงื่อนเวลาการชำระภาษี ดังนี้
1.การประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษี โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาตามกฎหมาย ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนเป็น ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2564
2.การแจ้งการประเมินภาษีโดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาตามกฎหมาย ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เลื่อนเป็น ภายในเดือนเมษายน 2564
3.การชำระภาษีตามแบบแจ้งประเมินภาษี โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ระยะเวลาตามกฎหมาย ภายในเดือนเมษายน 2564 เลื่อนเป็น ภายในเดือนมิถุนายน 2564
4.การผ่อนชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษี ระยะเวลาตามกฎหมาย 1.งวดที่หนึ่ง ภายในเดือนเมษายน 2564 2.งวดที่สอง ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 3.งวดที่สาม ภายในเดือนมิถุนายน 2564 เลื่อนเป็น 1.งวดที่หนึ่ง ภายในเดือนมิถุนายน 2564 2.งวดที่สอง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 3.งวดที่สาม ภายในเดือนสิงหาคม 2564
5.การมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาตามกฎหมาย ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 เลื่อนเป็น ภายในเดือนกรกฎาคม 2564
6.การแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาตามกฎหมาย ภายในเดือนมิถุนายน 2564 เลื่อนเป็น ภายในเดือนสิงหาคม 2564
ประเภทที่ดินตามกฏหมาย ที่ต้องจ่ายภาษี มีดังนี้
ที่อยู่อาศัย ถือเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ ผู้เสียภาษีคือเจ้าของบ้านหลังหลักคือผู้ที่มีชื่อบนโฉนดและทะเบียนบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน ส่วนบ้านหลังอื่นๆ ใช้ชื่อเจ้าของบ้านที่มีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ได้
ที่อยู่อาศัยสำหรับใช้ประโยชน์อื่นๆ กรณีเป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ พาณิชยกรรม, อุตสาหกรรม, อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ร้านอาหาร ฯลฯ
ที่ดินรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรณีเป็นที่ดินที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้า ยกเว้นว่าจะมีกฎหมายห้ามหรือให้ทิ้งไว้เพื่อการเกษตร หรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2564
ก่อนหน้านี้ 26 มกราคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2564 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับบ้านพักและที่อยู่อาศัย มีอัตราเพดานอยู่ที่ 0.3% พื้นที่เกษตรกรรมมีอัตราเพดานจัดเก็บ 0.15% และพื้นที่รกร้างมีอัตราเพดานอยู่ที่ 1.2% โดยมีอัตราจัดเก็บ ดังนี้
ที่ดินเกษตรกรรม
มูลค่า 0-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.01
มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03
มูลค่า 100-500 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05
มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.07
มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.01
บุคคลธรรมดาได้รับยกเว้น อปท. ละไม่เกิน 50 ล้านบาท และมีภาระภาษีดังนี้
มูลค่า 50 ล้านบาท ค่าภาษี 0 บาท
มูลค่า 100 ล้านบาท ค่าภาษี 5,000 บาท
มูลค่า 200 ล้านบาท ค่าภาษี 40,000 บาท
บ้านหลังหลัก
มูลค่า 0-10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
10-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02
50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03
75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05
100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1
บ้านหลังหลัก และที่ดิน
มูลค่า 0-10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
10-50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03
75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05
100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1
บ้านหลังอื่น ๆ
มูลค่า 0-10 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02
10-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.02
50-75 ล้านบาท อัตราภาษี 0.03
75-100 ล้านบาท อัตราภาษี 0.05
100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.1
ภาระภาษี บ้านหลังหลัก
มูลค่า 50 ล้านบาท ภาระภาษี 0 บาท
100 ล้านบาท ภาระภาษี 20,000 บาท
200 ล้านบาท ภาระภาษี 120,000 บาท
ภาระภาษี บ้านหลังอื่น ๆ
มูลค่า 50 ล้านบาท ภาระภาษี 10,000 บาท
100 ล้านบาท ภาระภาษี 30,000 บาท
200 ล้านบาท ภาระภาษี 130,000 บาท
อัตราภาษี ที่รกร้างว่างเปล่าและอื่น ๆ
มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3
50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4
200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5
1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6
5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7
ภาระภาษี ที่รกร้างว่างเปล่าและอื่น ๆ
มูลค่า 50 ล้านบาท ภาระภาษี 150,000 บาท
100 ล้านบาท ภาระภาษี 350,000 บาท
200 ล้านบาท ภาระภาษี 750,000 บาท
1,000 ล้านบาท ภาระภาษี 4,750,000 บาท
ขั้นตอนการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ประเภท, ขนาด และการใช้ประโยชน์ และยื่นแก้ไขท้องถิ่นได้ทันทีหากข้อมูลไม่ถูกต้อง
- ตรวจสอบแบบแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ ประเภท, ขนาด, ราคาประเมิน, อัตราภาษี, การใช้ประโยชน์ และค่าภาษี หากประเมินไม่ถูกต้อง ต้องยื่นคัดค้านและอุทธรณ์
- ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด