กระทรวงสาธารณสุข เปิดแผนเบื้องต้นฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ระยะแรก 2 ล้านโดส ช่วง กพ.-พ.ค.นี้ เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า คนมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุมโรคในพื้นที่แพร่ระบาด 10 จังหวัด
วันนี้ (11 ก.พ.2564) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจะยึดหลักความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และความเป็นธรรม
วัคซีนที่ไทยจัดหามา 2 ชนิด คือ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค มีการติดตามผลการฉีดในประเทศต่าง ๆ ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ร้ายแรง ส่วนประสิทธิภาพลดการเกิดโรคและความสูญเสีย พบผลเป็นที่น่าพอใจ ส่วนลดการแพร่โรคบางประเทศระบุว่า ลดได้ถึงร้อยละ 50-60
สำหรับประเทศไทย ระยะแรกจะฉีดในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร อ.แม่สอด จ.ตาก กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน, ผู้มีโรคประจำตัว โรคอ้วนที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัคซีนซิโนแวคจากจีนที่ค่อนข้างมั่นใจเรื่องความปลอดภัย
ส่วนระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ จะฉีดให้กลุ่มที่มีอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือให้บริการสาธารณะ นักบิน ลูกเรือ นักการทูต
ทั้งนี้ การสำรวจความเห็นบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ร้อยละ 90 ต้องการฉีดวัคซีน ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 85
ระยะแรกวัคซีนซิโนแวค ส่วนระยะที่ 2 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ประเทศต่าง ๆ ใช้มาเป็นล้านคน ความปลอดภัยเป็นที่น่าพึงพอใจ ขอให้ประชาชนมั่นใจ
นอกจากนี้ จัดทำระบบติดตามผลหลังฉีดวัคซีนในระยะ 1 วัน, 7 วัน และ 30 วัน, ใช้แอปพลิเคชันไลน์ OA (หมอพร้อม) อสม. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูล
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความเห็นของประชาชนต่อการฉีดวัคซีน ว่า กรมควบคุมโรคสำรวจความคิดเห็นจากประชาชน 2,879 คน โดยร้อยละ 70.4 เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์ควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก, ร้อยละ 40.4 ผู้สูงอายุ และร้อยละ 34.9 ประชาชนทุกคน
ผลสำรวจดังกล่าว ยังพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ยังต้องการฉีดวัคซีน แม้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19
สำหรับแผนกระจายวัคซีน 2 ช่วง คือ ระยะแรก ก.พ.-พ.ค.2564 จำนวน 2 ล้านโดส ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร 820,000 โดส กรุงเทพฯ 800,000 โดส จ.นนทบุรี 26,000 โดส จ.ปทุมธานี 26,000 โดส จ.สมุทรปราการ 28,000 โดส จ.ระยอง 18,000 โดส จ.ชลบุรี 28,000 โดส จ.จันทรบุรี 16,000 โดส จ.ตราด 12,000 โดส และ จ.ตาก 160,000 โดส
ระยะที่ 2 มิ.ย.-ธ.ค.2564 จำนวน 61 ล้านโดส โดยมีโรงพยาบาลรองรับ 1,000 แห่ง เฉลี่ยฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส