สธ.ลุยค้นเชิงรุกโควิดปทุมธานี อย่างน้อย 10,000 ราย หลังใช้เทคโนโลยีอวกาศฯติดตามการแพร่กระจาย พบ 1 เดือนจาก 5 แห่งเป็น 240 แห่ง ไปในอีก 9 จังหวัด ตรวจตลาดพบ 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญแพร่กระจายเชื้อ กรมอนามัยเตรียมชงมาตรฐานพัฒนา “ตลาด”ใหม่
เวลา 11.30 น. วันที่ 19 ก.พ. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย พบจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 61 ราย ในจ.สมุทรสาคร 35 ราย กรุงเทพฯ 7 ราย ปทุมธานี 10 ราย พระนครศรีอยุธยา 4 ราย นครปฐม 3 ราย นนทบุรี 2 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 55 รายในจสมุทรสาคร 36 ราย ปทุมธานี 12 ราย นครปฐม 7 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 14 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย คือ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นแพทย์เกษียณติดเชื้อสืบเนื่องจากการดูแลผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ของจ.มหาสารคาม ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก 19 ราย ติดเชื้อสะสม 25,241 ราย เสียชีวิตสะสม 83 ราย เฉพาะระลอกใหม่ 21,004 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย อัตราเสียชีวิตสะสมของประเทศไทย 0.11 % ทั่วโลก 2.2 %
“บุคลากรสาธารณสุข เฉพาะในส่วนของแพทย์นั้น ที่มีการทำงานอยู่ประมาณ 3 หมื่นคนเฉลี่ยนแพทย์ 1 คนต้องดูและประชาชนราว 1,800 คน แต่บางพื้นที่อาจต้องดูแล 4,000-8,000 คนจึงขอความร่วมมือประชาชนหากเป็นผู้สมผัสผู้ติดเชื่อ ไปพื้นที่เสี่ยง อาศัยในชุมชนที่มีรายงานการติดเชื้อ เมื่อไปรับบริการทางการแพทย์จะต้องแจ้งสถานพยาบาลทราบด้วย เพื่อการระมัดระวังและไม่ต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และการปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้คงระบบให้สามารถดูแลประชาชนต่อเนื่องต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่ในการกระจายวัคซีนในระยะแรกนั้นจะต้องให้กับบุคลากรสาธารณสุขก่อน”พญ.อภิสมัยกล่าว
แผนที่ประเทศไทยสัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ใน 19 จังหวัด เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วที่มี 11 จังหวัด ซึ่งยังเป็นจังหวัดที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 1-2 วันที่ผ่านมามี 12 จังหวัด ลดลงจากเดิม 3 จังหวัด
สำหรับพื้นที่จ.ปทุมธานีนั้น ศบค.ได้นำข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA มาใช้ในการติดตามสถานการณ์แพร่กระจายของโควิด-19ในจ.ปทุมธานีและจังหวัดอื่นๆเพื่อวางแผนมาตรการ โดยจากการเอาไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อมาเปรียบเทียบกันทำให้เป็นการกระจายตัว ตั้งแต่ 16 ม.ค.-18ก.พ.2564 โดยการติดตามผู้ติดเชื้อแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา พบว่าไทมไ์ลน์ผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับตลาดพรพัฒน์และตลาดสุชาติ ช่วง 16-22 ม.ค. ยังเป็นสีเขียว 23-296 ม.ค.เป็นสีเหลือง 30ม.ค.-5 ก.พ.เป็นสีชมพู 6-12 ก.พ.หลังจากพบแม่ค้า 1 รายผลตรวจยืนยันติดโควิด-19 และเริ่มมีการค้นหาเชิงรุก เป็นสีแดง และ13-18 ก.พ. การกระจายผู้ติดเชื้อ เป็นสีแดงเลือดหมู
ทั้งนี้ จากสถานที่พบผู้ติดเชื้อ 5 แห่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนปัจจุบันอยู่ที่ 240 แห่ง และกระจายไปอีก 9 จังหวัด คือ นครนายก กทม. เพชรบุรี สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา อ่างทอง และนนทบุรี รวมถึง 2 จังหวัด คือ ชัยภูมิและนครปฐมที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกับปทุมธานี แต่มีรายงานว่าผู้ติดเชื้อได้เดินทางไป ได้มีการแจ้งให้จังหวัดมีการเฝ้าระวังแล้ว
ส่วนการตรวจเชิงรุกในตลาดพรพัฒน์ ตลาดสุชาติ ตลาดรังสิต และชุมชน ใกล้เคียง โดยตรวจแล้ว 5,743 ราย เจอติดเชื้อ 355 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมีการตรวจตลาดและชุมชนใกล้เคียงอีก 1,781 ราย ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดคลองสี่เมืองใหม่ และตลาดชาญนคร พบติดเชื้ออีก 5 ราย ที่ตลาดสี่มุมเมืองพบ 4 ราย ตลาดไทย 1 ราย ส่วนอแห่งอื่นยังไม่พบเชื้อ โดยรวมตรวจแล้ว 7,417 ราย โดยจะตรวจต่อให้ได้ 1 หมื่นรายเป็นอย่างน้อย
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบของกรมควบคุมโรคพบว่า ปัจจัยทำให้แพร่เชื้อ คือ 1.อากาศปิด นอกจากลักษระแบบฝาชีครอบเป็นโดมเตี้ยแล้ว มีการตรวจการไหลเวียนของอากาศหรือค่าแอร์โฟลว์พบว่าเป็น 0 คือ ไม่เกิดการระบายอากาศที่เพียงพอ ทำให้แพร่กระจายเชื้อง่าย และ 2.คน คือ ผู้ค้า ลูกจ้างชาวไทยและเพื่อนบ้าน มีการเดินทางไปมาหลายตลาด อาจแพร่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง กำลังเฝ้าระวังติดตาม คนติดเชื้อไม่ใช่คนไปจับจ่ายใช้สอยหรือคนในชุมชน เนื่องจากมีการสวมหน้ากาก ใช้เวลาสั้นๆ แต่คนขายคนงานอยู่ในตลาดนานๆ อาจรับประทานอาหารร่วมกันในตลาด มีความเป็นไปได้ คนหนึ่งติดเชื้อแพร่ไปคนอื่นโดยง่าย
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า กรมอนามัยจะเสนอแผนมาตรการพัฒนามาตรฐานตลาด เพื่อรองรับโควิด-19ที่จะอยู่ไปอีกระยะ รวมถึงโรคติดต่ออื่นในอนาคต โดยจะทบทวนมาตรการพัฒนาตลาดให้มีสิ่งแวดล้อมสะอาดปลอดภัย อย่างฝาชีครอบทรงเตี้ย อาจต้องจัดการทำให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น ทั้งปรับโครงสร้างตลาด หรือจัดเครื่องระบายอากาศ การดูแลความสะอาดและความหนาแน่น เช่น ไม่ให้เกิดน้ำขัง ทำความสะอาดพื้น แผงขาย การห้อยระโยงระยาง ความใกล้ชิดของแต่ละแผง สธ.กำลังดูในรายละเอียดและจะขอความร่วมมือพื้นที่เทศบาล ท้องถิ่นดำเนินการ รวมถึงการตรวจสุขภาพ การขึ้นทะเบียนผู้ค้าผู้ขาย ไม่ใช่เพื่อลงโทษจับผิด แต่ให้รัฐบาลท้องถิ่นดูแลผู้ค้าได้รับการตรวจสุขภาพให้ปลอดภัย เมื่อสุขอนามัยที่ดีก็นำเสนอสินค้าที่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้สอยในตลาดได้