“การรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ วันนี้ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถนำเพลงบอกมาถึงกรุงเทพฯได้ เพราะเพลงบอกนี้ไม่ค่อยนิยมเลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เป็นสิ่งที่ไม่น่าชมเป็นสิ่งที่เก่าแก่โบราณ แต่สิ่งเหล่านี้ล่ะครับที่อยู่กับคนใต้มาตลอดยาวนาน อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ บรรพชน คนรุ่นหลัง และสุดท้ายก็อยากจะขอฝากนะครับ เพลงบอก ขอให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าและรักในวัฒนธรรมของภาคใต้ด้วยครับ”
หนุ่มน้อยนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนหัวไทรบำรุงราษฎร์ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชกล่าวอย่างภาคภูมิใจบนเวทีประกาศผลการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” จัดโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ณ โรงแรม เอส 31 ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยทีมจาก รร.หัวไทรบำรุงราษฎร์ กับผลงาน “เพลงบอกหัวไทร” เป็นหนึ่งใน 17 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายระดับประเทศ และได้รับรางวัลชมเชย
ทีมจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของผลงาน “หล่นลงในดงใจ” เล่าเรื่อง “ชุมชนตะเคียนเตี้ย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่มี “มะพร้าว” เป็นวิถีชีวิต คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม”
สำหรับการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สร้างสรรค์ไทย” มีกติกาคือ ให้เด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จากทั่วประเทศ ซึ่งสนใจเข้าร่วมประกวด ได้จัดทำคลิปวีดีโอโดยใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ความยาวไม่เกิน 5 นาที บวกกับเทคนิคผสมผสาน โดยเฉพาะการตัดต่อให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งภาพ เสียงและเนื้อหา ชิงเงินรางวัลรวม 380,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณจากกองทุนฯ เปิดรับผลงานตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.-31 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา
ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่าการประกวดครั้งนี้ เป็นการนำเรื่องราวมรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่นมาผลิตเป็นสื่อโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจาก 950 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด มีการคัดเลือกผลงานในระดับจังหวัด โดย 3 ผลงานเด่นของแต่ละจังหวัด จะถูกส่งเข้ารับการคัดเลือกในระดับประเทศ จนเหลือ 17 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย นอกจากนี้ 1 ใน 17 ผลงานดังกล่าว ยังจะได้รับอีก 1 รางวัล คือ “รางวัลขวัญใจมหาชน (Popular Vote)” ด้วย
ตัวแทนจากทีม โรงเรียนหัวไทรบำรุงราษฎร์ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ขึ้นรับรางวัลชมเชย การประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” ในผลงาน “เพลงบอกหัวไทร”
“การจัดประกวดครั้งนี้ กองทุนได้มีการจัดทำหลักสูตรออนไลน์เพื่อให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ได้มีความเข้าใจในกระบวนการและวิธีการที่ถูกต้องในการผลิตสื่อหรือคลิปวีดีโอที่จะนำเสนอเข้าประกวด ทั้งหมดมี 5 หลักสูตรด้วยกัน แต่ละหลักสูตรจะมีความยาวประมาณ 15 นาที ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวด สามารถที่จะศึกษา เรียนรู้ เตรียมตัวทำการบ้านก่อนการที่จะเริ่มส่งผลงาน และเมื่อเขาศึกษาหลักสูตรต่างๆ จบแล้ว ก็เริ่มต้นในการผลิตชิ้นงาน
เรายังได้ทำระบบในการรับสมัคร การคัดเลือก และการลงมติให้คะแนน ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า เว็บ แอปพลิเคชั่น (Web Application) ถือว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเข้ามาจัดการ เป็นระบบการประกวดที่เรียกว่าสอดคล้องกับยุคสมัย เน็กซ์ นอร์มอล (Next Normal) เดินตามแนวนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ตามนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าว
ภาพจากผลงาน “หล่นลงในดงใจ” เล่าเรื่อง “ชุมชนตะเคียนเตี้ย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ในการประกาศผลรางวัลครั้งนี้ “รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล” รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ ผลงานชื่อ “หล่นลงในดงใจ” จังหวัดชลบุรี, “รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัล” รางวัลละ 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ 1.ผลงานชื่อ “ต๋าแหลว” ที่ยึดเหนี่ยวของชาวแม่จริมที่ยังคงอยู่ จังหวัดน่าน 2.ผลงานชื่อ “สืบชะตา” จังหวัดเชียงใหม่, “รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 4 รางวัล”รางวัลละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ 1.ผลงานชื่อ “หอมเคย” จังหวัด นครศรีธรรมราช 2.ผลงานชื่อ “เสาเล้าเสารู้”จังหวัดขอนแก่น
3.ผลงานชื่อ “L. A. ที่บ้านเรา” จังหวัด ร้อยเอ็ด และ 4.ผลงานชื่อ “CD ไทใหญ่ถัวเน่าแผ่น” จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ “รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล” รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัล ได้แก่ 1.ผลงานชื่อ “ต้นตํารับแห่งขนมไทย” จังหวัด พระนครศรีอยุธยา 2.ผลงานชื่อ “Miracle of Culture มหัศจรรย์แห่งวัฒนธรรม2 ศาสนา” จังหวัดสงขลา 3.ผลงานชื่อ“ห้อมฮ้อมฮัก” จังหวัดแพร่ 4.ผลงานชื่อ “101 เมืองที่ไม่ได้มีดีแค่ หอโหวด” จังหวัด ร้อยเอ็ด 5.ผลงานชื่อ “เพลงบอกหัวไทร” จังหวัดนครศรีธรรมราช
6.ผลงานชื่อ “ไหว้ครูหมอหนังฝังความรักวัฒนธรรม” จังหวัดพัทลุง 7.ผลงานชื่อ “1 Day Trip ลูกประคบบางกระเจ้ามีดีอะไร” จังหวัดสมุทรปราการ 8.ผลงานชื่อ “เสียงเรียกหาเมืองลับแล” จังหวัดอุตรดิตถ์ 9.ผลงานชื่อ “Ku Bua Culture” จังหวัดราชบุรี และ 10.ผลงานชื่อ “สืบสานInnovation” จังหวัดอุดรธานี ซึ่งผลงาน สืบสาน Innovation ยังได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน (Popular Vote) จำนวน 1 รางวัลรางวัลละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล อีกรางวัลหนึ่งด้วย
ทีมจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของผลงาน หล่นลงในดงใจ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในกาปรระกวดครั้งนี้เปิดเผยภายหลังพิธีกรประกาศผลรางวัล ว่า ผลงานที่ทำออกมานั้นได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านเพื่อน ณ “ชุมชนตะเคียนเตี้ย” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็น “ชุมชนมะพร้าว” เพราะมะพร้าว 1 ลูกที่หล่นมา ได้กลายเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย โดยคาดหวังว่า ผู้ที่ได้รับชมผลงานจะหาโอกาสไปท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน
“ต้องขอขอบคุณโอกาสดีๆ จากโครงการสร้างสรรค์ไทย ที่เป็นพื้นที่ให้กับพวกเราได้แสดงความสามารถและศักยภาพของเราเอง ตลอดเวลาของการทำผลงาน พวกเราพยายามดึงศักยภาพของคนในทีมออกมาสร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัดต่อ แอนิเมชั่น ถ่ายภาพ หรือ Content(เนื้อหา) ต่างๆ เพื่อให้ผลงานหล่นลงในดวงใจ ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด” ตัวแทนทีมเจ้าของผลงาน หล่นลงในดงใจ กล่าว
อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า โครงการสร้างสรรค์ไทย ซึ่งจัดประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม เกิดขึ้นเพราะอยากให้เป็นโอกาสสำหรับน้องๆ ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เข้าร่วมประกวดต้องอาศัยทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และการลงมือทำ
ทั้งนี้ ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือยังมีเทคนิคในการถ่ายทำอยู่ในนั้นด้วย ทำให้ประหยัดไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นที่มาของการกำหนดกติกาให้ทำคลิปวีดีโอจากโทรศัพท์มือถือ เพราะการเปิดกว้างอาจทำให้ต้องไปจัดหาอุปกรณ์ เป็นการเพิ่มภาระกับผู้เข้าร่วมประกวดและพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งการประกวดครั้งนี้ต้องขอบคุณ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนคณะกรรมการตัดสินตั้งแต่รอบคัดเลือกระดับจังหวัด จนมาถึงรอบสุดท้ายในระดับประเทศ
“ขอให้น้องๆ ทุกทีมได้มีความภาคภูมิใจในผลงานที่เราได้สร้างสรรค์ขึ้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมก็จะเป็นหน่วยงานที่จะนำคลิปของน้องๆ ไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งเรามีเครือข่ายเรื่องของการเฝ้าระวังเรื่องของสื่อสร้างสรรค์อยู่เป็นจำนวนมาก แล้วก็เรื่องของการลงไปในยูทูบ ประชาสัมพันธ์ไปในเว็บไซต์ของกระทรวง แล้วก็เครือข่าย ก็จะทำให้ยอดวิวของคลิปของน้องๆ ก็จะได้เพิ่มขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังกล่าวอีกว่า การประกวดครั้งนี้ท้ายที่สุดได้แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ และการย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่แต่ละคนได้เติบโตขึ้นมา บางคนไปเรียนหนังสือในต่างถิ่น แต่คลิปวีดีโอเหล่านี้ทำให้ได้กลับไปสำรวจบ้านเกิดของตนเองว่ามีอะไรดี และควรนำเสนออะไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุทธศาสตร์การสร้างชาติ ที่เน้นการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ และหวังให้มีการต่อยอดวัฒนธรรมในฐานะ “ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)” สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป
สำหรับผู้สนใจรับชมผลงานทั้ง 17 ชิ้นที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายระดับประเทศ ในการประกวดสื่อสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนภายใต้หัวข้อ “เยาวชนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์วัฒนธรรม” สามารถเข้าไปย้อนดูได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “สร้างสรรค์ไทย” โดยทางเพจได้โพสต์คลิปวีดีโอของ 17 ผลงานดังกล่าว ไว้ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2565!!!