นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้าพร้อมด้วยพันธมิตรอย่างบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เอไอเอส , บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ได้ร่วมมือจัดทำ “โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ ครั้งแรกในไทยที่จ.ภูเก็ต ด้วยแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยีเอ็นบี-ไอโอที เครื่องมือมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน
โดยจะช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้การกักตัวบนเรือยอชต์ของนักท่องเที่ยวและการทำงานของทีมแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว และพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2563 ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาท”
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งเป็นอันดับ 1 ด้วยเครือข่าย 4จี, 5จี ที่มีคลื่นมากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ,กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ ตลอดจนเครือข่ายไอโอทีทั้งเอ็นที–ไอโอที และ eMTC ที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เอไอเอสจึงได้เปิดตัวโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ โดยเลือกใช้เครือข่าย Narrow Band IoT ที่รองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์บนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม.
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มคลาวด์มาเป็นเครือข่ายหลักเชื่อมต่อกับสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ที่พัฒนาขึ้นโดยพีเอ็มเอชที่จะมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัวบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบกเพื่อท่องเที่ยวต่อไป
ทั้งนี้ โครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์มีขั้นตอนในการให้บริการคือ เมื่อมีนักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ ทางสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงาน กับหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก พร้อมให้นักท่องเที่ยวสวม สายรัดข้อมืออัจฉริยะ ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านตลอด 14 วันของการกักตัวเข้ามาที่แดชบอร์ด ณ ที่ทำการ ท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป