โควิด วันนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง รายใหม่ 186 ราย พบคลัสเตอร์แม่ค้าอัมพวา เดินทางหลายจังหวัด ทำติดต่อกันแล้ว
วันที่ 7 ก.พ. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 186 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 176 ราย (ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 141 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 35 ราย) กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 10 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 23,557 ราย รักษาหายแล้ว 17,410 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 79 ราย
จ.สมุทรสาคร ตัวเลขลดลงต่อเนื่อง ผู้ป่วยรายใหม่ 163 ราย (พบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 132 ราย) กทม. 3 ราย ทั้งนี้ พบว่าการคัดกรองเชิงรุกในโรงงานเริ่มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในส่วน กทม. เจ้าหน้าที่รพ.จุฬาฯ ที่มีการติดเชื้อ 3 ราย มีการสอบสวนวงจรการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวดแล้ว นอกจากนี้ยังพบ นครปฐม 1 ราย ปทุมธานี 4 ราย เพชรบุรี 1 ราย และสมุทรสงคราม 4 ราย
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้จะมีการรายงานการติดเชื้อน้อยกว่า 10% อีก 50 โรงงาน โดยจะตรวจ 100-150 เคสต่อวัน ก่อนหน้านี้มีการรายงานการติดเชื้อในโรงงานขนาดใหญ่ที่ติดเชื้อมากกว่า 10% ไปแล้ว ทำให้ จ.สมุทรสาคร ยังเป็นการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และทำให้กลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ
สำหรับ จ.สมุทรสงคราม พบคลัสเตอร์แม่ค้าขายหมู บ้านพักอยู่ที่อัมพวา แต่พบมีการเดินทางไปหลายจังหวัด เพราะขายของที่ตลาดรถไฟสมุทรสาคร แต่เดินทางไปรับหมูที่ จ.ราชบุรี วันที่ 28 ม.ค. พบว่าติดเชื้อโควิด หลังจากนั้นคนในครอบครัวตรวจพบลูกสะใภ้ติดด้วย วันที่ 30 ม.ค. ความน่าสนใจคือมีการเดินทางไปหลายจังหวัด ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในครอบครัว ชุมชน ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่เกี่ยวข้องแล้ว 87 ราย แบ่งเป็นจังหวัดต่างๆ ที่ติดจากคลัสเตอร์นี้ คือ สมุทรสาคร 22 ราย เพชรบุรี 5 ราย กทม. ราชบุรี สุพรรณบุรี อีกจังหวัดละ 1 ราย และอีก 3 รายระบุจังหวัดไม่ได้ ซึ่งพบว่าแม่ค้าที่เกี่ยวข้องขายของที่หนึ่ง บ้านพักอีกที่หนึ่ง และเดินทางด้วยรถสาธารณะ
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า มีการรายงานจาก ก.แรงงาน ว่า วันที่ 13 ก.พ. จะเป็นการหมดเขตขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย วันที่ 14 ก.พ. หากยังไม่รายงานถือว่ามีความผิด ตัวเลขล่าสุด รายงานตัวแล้ว 416,769 คน มีนายจ้าง 384,102 คน ไม่มีนายจ้าง 32,667 คน มาตรการดูแลแรงงานต่างด้าว ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสังคมไทย การอยู่ร่วมกันร่วมมือกัน ขอให้นายจ้างทำให้ถูกต้อง เข้ามาอยู่บ้านเราใช้กฎหมายบ้านเราดูแลความปลอดภัยโควิดมาตรฐานเดียวกัน มาตรการอื่นๆที่ศบค.จะประกาศสำหรับผู้มีแรงงานต่างด้าว สถานประกอบการขนาดใหญ่ ทำงานในบ้าน 1-2 ราย มาตรการจะออกมาเป็นระยะขอให้ติดตาม