ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เป็นคราวที่ 10 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1-31 มี.ค.
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ (โควิด-19) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ก่อนขยายระยะเวลาการบังคับใช้เรื่อยมารวมแล้ว 10 ครั้ง
ถึงขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) กำหนดให้ จ.สมุทรสาคร เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” เพียง จ.เดียวเท่านั้น ส่วนอีก 8 จ. ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตาก นครปฐม สมุทรสงคราม และราชบุรี ลดระดับลงเป็น “พื้นที่ควบคุม” โดยประชาชนสามารถรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหารได้จนถึงเวลา 23.00 น.
วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ศบค. เห็นชอบแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 เมื่อวัคซีนมีปริมาณจำกัด จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
- ผู้ที่มีโรคประจำวัน เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรังระยะ 5 ขึ้นไป, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด, โรคเบาหวาน, โรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. ขึ้นไป
- ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
- กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า
- ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์
- ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ
- ประชาชนทั่วไป
- นักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ
- แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
โฆษก ศบค. ยังเปิดเผยกรอบเวลาและรายละเอียดของวัคซีนที่จะใช้ฉีดในประเทศไทย ไว้ดังนี้
ช่วงแรก (ก.พ.-เม.ย.) วัคซีนซิโนแวคของจีน จำนวน 2 ล้านโดส โดยจะเข้ามาในวันที่ 24 ก.พ. 2 แสนโดสแรก, มี.ค. 8 แสนโดส และ เม.ย. อีก 1 ล้านโดส
ช่วงที่สอง (มิ.ย.-ส.ค.) วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส โดยเข้ามาถึงเดือน มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค. 10 ล้านโดส และ ส.ค. 10 ล้านโดส
ช่วงที่สาม (ก.ย.-ธ.ค.) วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 35 ล้านโดส โดยเข้ามาในเดือน ก.ย.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส
สำหรับแผนกระจายวัคซีน 2 แสนโดสแรก ซึ่งเป็นของซิโนแวค ตามที่ ศบค. ให้ความเห็นชอบ จะกระจายไปใน 13 จังหวัด ซึ่งนอกจาก “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” และ “พื้นที่ควบคุม” รวม 9 จังหวัดแล้ว ศบค. ยังให้กระจายวัคซีนล็อตแรกไปยังกลุ่มจังหวัดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีสถานกักกันโรครองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ โดยให้อำนาจกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณาผู้ที่เหมาะสมในการฉีด