ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข แถลงตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ วันนี้ (11 ม.ย.) เพิ่มขึ้น 967 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน 434 ราย
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบรักษา 530 ราย ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 32,625 ราย
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่าสำหรับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันระหว่างวันที่ 1-11 เม.ย. มีทั้งสิ้น 4,314 ราย
ข้อมูลผู้ป่วยยืนยันสูงสุด 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 236 ราย ชลบุรี 180 ราย เชียงใหม่ 189 ราย
นพ.โสภณ ระบุว่าทั้ง 3 จังหวัดเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง จังหวัดอื่น ๆ ที่พบการติดเชื้อ จังหวัดโดยรวมเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสถานบันเทิงและกลุ่มคนทำงานที่ยังคงมีการแพร่เชื้อต่อเนื่อง และหลายจังหวัดมีการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การติดเชื้อในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงระลอกเดือน เม.ย. พบการระบาดกระจายไปยัง 55 จังหวัด โดยกลุ่มใหญ่เป็นช่วงอายุ 20-29 ปี
ทั้งนี้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์ทองหล่อ พบสถานบันเทิงที่มีผู้ติดเชื้อ 85 แห่ง มีผู้ป่วยยืนยันแล้ว 211 ราย
ส่วนข้อมูลล่าสุดของจังหวัดที่มีคําสั่งหรือประกาศให้มีการกักกันตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) รายงานเมื่อเวลา 14.00 น. มีทั้งสิ้น 38 จังหวัด
เชียงใหม่ยอดผู้ติดเชื้อวันเดียวพุ่ง 281 ราย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันที่ติดตามได้จากสำนักสาธารณสุขจังหวัดของวันที่ 11 เม.ย. เมื่อเวลา 12.00 น. พบว่ามีตัวเลขที่สูงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และชลบุรี
– เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 281 ราย รวมตัวเลขผู้ป่วยระลอกเดือน เม.ย. 662 ราย
– ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 149 ราย โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มหลักมาจากสถานบันเทิง สูงสุดจากคลัสเตอร์ของร้านฟริ้นสโตน 19 ราย และสถานบันเทิงอื่นอีก 17 ราย
นพ. ยง เปิดตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ยืนยันวัคซีนที่ไทยใช้ ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้
ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในสหรัฐ ยุโรป และไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ส่วนการป้องกันอาการน้อยหรือปานกลางมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันอยู่ที่กว่าร้อยละ 60-95%
ทั้งนี้การวัดประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ อาการน้อยถึงปานกลาง อาการมาก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และกลุ่มที่มีอาการมากนอนโรงพยาบาลและป้องกันการเสียชีวิต
สำหรับวัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้ ได้แก่ ซิโนแวค ป้องกันอาการน้อยหรือปานกลาง 78% ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันอาการน้อยหรือปานกลาง 81% จากการทดสอบของหลาย ๆ ชาติ และป้องกัน 76% จากการทดสอบในสหรัฐฯ
“ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ว่าวัคซีนซิโนแวคหรือแอสตราเซนเนก้าสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้มีประสิทธิภาพดียิ่ง และโดยเฉพาะป้องกันการเสียชีวิตได้ค่อนข้างแน่นอน”
ศ.นพ. ยง กล่าวถึงผลกระทบจากการวัคซีนว่า มีการยอมรับว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อุบัติการณ์ในการเกิดน้อยมาก ในอัตรา 1 ต่อแสนแล้วแต่ประเทศ และส่วนใหญ่จะเกิดในอายุน้อยกว่า 55 ปี โดยเฉพาะเพศหญิงที่รับประทานฮอร์โมน
ส่วนการการฉีดวัคซีนในไทยขณะนี้จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้หรือไม่ นพ.ยง อธิบายว่า ไวรัสกลายพันธุ์ที่พบขณะนี้เป็นสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับพื้นผิวเซลล์ ทำให้เกาะติดเซลล์ได้แน่น เพิ่มจำนวนง่าย ปริมาณไวรัสมาก กระจายโรคเร็ว ส่วนความรุนแรงไม่ต่างจากสายพันธุ์เดิมที่เคยพบในไทย ดังนั้น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนอื่น ๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิม
นพ. ยง ระบุด้วยว่าสำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล วัคซีนอาจมีประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรคได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องช่วยกันป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หลุดเข้าไทย แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาไทยจะกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทำอย่างเต็มที่ ก็ยังพบสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาและเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในไทยต่อจากนี้
ชี้อาการตาแดง มีผื่นขึ้น ต้องมีอาการทางเดินหายใจร่วมด้วย
จากการแถลงของอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ระบุว่า “จากการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิง พบหลายรายมีอาการตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ บางรายมีผื่นขึ้น” นพ. ยง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการผื่นนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องยอมรับว่าโรคทุกโรค การแสดงอาการต่าง ๆ มีได้เกือบทุกรูปแบบ ท้องเสียก็ได้ มีได้สารพัด หรือการฉีดวัคซีนก็ท้องเสียได้ ทำนองเดียวกัน มีผื่นขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่ามี แต่อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงอาการอย่างอื่นที่เข้ามาร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ ไอ อาการทางเดินหายใจ มีไข้
“ขอให้เอาอาการหลักคือ อาการทางเดินหายใจ เพราะโรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจ จะบอกว่าไม่มีอาการอะไรเลยแล้วมีผื่นขึ้นแล้วจะบอกว่าคนนี้ต้องไปตรวจโควิด ไม่ใช่เลยครับ”
นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ระบุด้วยว่าตอนนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะตระหนักจึงทำให้มีผู้ไปตรวจหาเชื้อจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องมีเหตุและผล ต้องคิดว่าตัวเราเอง เสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ ยกตัวอย่างการระบาดในระลอกแรกเห็นได้ชัดว่าในกรณี สัมผัสในครอบครัว ถือว่าคนในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงเห็นด้วยที่กลุ่มนี้ควรไปตรวจ แต่หากสัมผัสในที่ทำงานในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ โอกาสติดในที่ทำงานน้อยหรือน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะเกิดจากผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดจริง ๆ เช่น กินข้าวด้วยกัน มีการพูดคุยสนทนากัน ขอให้พิจารณาว่า หากเป็นเพื่อนสนิทก็ไปตรวจ แต่ไม่จำเป็นว่าทั้งที่ทำงานต้องไปตรวจ ส่วนที่คิดว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้างให้สังเกตอาการก่อน