ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้ลดระยะเวลาการกักกันบุคคลที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเหลือ 10 วัน จากเดิม 14 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป และเตรียมยกเลิกสถานที่กักกันตัวตั้งแต่ 1 ต.ค.
การประชุม ศบค. วันนี้ (19 มี.ค.) มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน โดย ศบค. มีมติเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมติการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เป็นคราวที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. โดยอาศัยตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้ปรับเกณฑ์พื้นที่เสี่ยงของ จ.สมุทรสาคร จากเดิมเป็น “พื้นที่สีเฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด” ก็เปลี่ยนเป็น “พื้นที่ควบคุม” เช่นเดียวกับอีก 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรสงคราม ตาก นครปฐม และสมุทรปราการ ส่วน “พื้นที่เฝ้าระวังสูง” มี 14 จังหวัด และที่เหลือ 54 จังหวัด เป็น “พื้นที่เฝ้าระวัง”
1 เม.ย. ลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน
นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบแผนการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่ง นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่ามี 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.) ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ทั้งผู้ที่มีรับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีน และเมื่อมีความพร้อม จะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน
- ระยะที่ 2 (1 ก.ค.-30 ก.ย.) ลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ทั้งผู้ที่มีรับวัคซีนแล้วและยังไม่ได้รับวัคซีน และเมื่อมีความพร้อม จะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน
- ระยะที่ 3 (1 ต.ค. เป็นต้นไป) ไม่ต้องกักตัวในบางพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับวัคซีนแล้ว 70%, ประชาชนได้รับวัคซีนตามเป้าแล้ว และเปิดรับบุคคลที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะเริ่มต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังให้มีการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์
นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับการเดินทางเข้ามาของคนต่างชาติ นับตั้งแต่ 1 เม.ย. ใช้เอกสารรับร้อง Covid-19 Free Certificate (CFC) เท่านั้น ไม่ต้องยื่นเอกสาร Fit to fly อีกต่อไป รวมถึงในระหว่างการกักกันตัว ก็จะผ่อนคลายให้สามารถออกนอกห้องพักได้ตามเวลาและเงื่อนไข เช่น ใช้ห้องฟิตเนส ใช้สระว่ายน้ำ ซื้ออาหารภายนอก ก่อนที่ระยะถัดไปจะอนุญาตให้ใช้บริการอื่น ๆ ของโรงแรมได้ ท้ายที่สุดจะกักกันเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่กำหนด
1 ต.ค. เลิกสถานกักกันตัว
โฆษก ศบค. กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. นี้ จะมีการปรับรูปแบบสถานที่กักกัน โดยเฉพาะสถานที่กักกัน หลังพบสถิติคนไทยจำนวนหนึ่งเดินทางระหว่างประเทศ ใช้บริการสูงสุดถึง 7 ครั้งต่อปี ทำให้รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นอาจต้องมีการออกค่าใช้จ่ายเองถ้าจำเป็น แล้วแต่บางคน หรืออาจจะต้องเลือกสำหรับการได้รับบริการ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 (1 เม.ย.-30 มิ.ย.) คงทุกอย่างเดิมไว้ เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน
- ระยะที่ 2 (1 ก.ค.-30 ก.ย.) ปรับรูปแบบให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะสมคือ สถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine – SQ), สถานที่กักกันทางเลือก (Alternative Quarantine – AQ), สถานที่กักกันในสถานพยาบาลที่รัฐกำหนด ( HQ), สถานที่กักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (AHQ), สถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organizational Quarantine – QQ)
- ระยะที่ 3 (1 ต.ค. เป็นต้นไป) ปรับรูปแบบเป็นสถานที่ควบคุมไว้สังเกต และใช้มาตรการ bubble and seal
“1 ต.ค. เป็นระยะที่ 3 ก็อาจจะไม่มีรูปแบบของ Quarantine ละครับ เพราะยกเลิกไปแล้ว ถึงตอนนั้นวัคซีนก็คงจะเต็มที่แล้ว” โฆษก ศบค. กล่าว
สงกรานต์ ห้ามสาดน้ำ-จัดคอนเสิร์ต-ปาร์ตี้โฟม
ส่วนมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ศบค. สั่งงดกิจกรรมการรับตัวกันของคนหมู่มาก โดยงดการรวมกลุ่มสาดน้ำ งดการจัดคอนเสิร์ต งดการประแป้ง งดการเล่นปาร์ตี้โฟม
“เน้นย้ำเลยนะครับ ไม่มีการสาดน้ำนะคับ งดกิจกรรมรวมกลุ่ม” นพ. ทวีศิลป์กล่าวและว่า แตสำหรับกิจกรรมประเพณีที่จัดในที่โลง เลี่ยงการสัมผัส เช่น กิจกรรมสรงน้ำพระ กิจกรรมทางศาสนา รดน้ำดำหัวตามประเพณีนิยม การเดินทางข้ามจังหวัด สามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่ให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่อยู่ในพื้นที่คับแคบ จัดให้มีอาการระบาย
อินเตอร์แอคทีฟ
บรรยากาศถนนข้าวสาร
2563
2562
อินเตอร์แอคทีฟ
บรรยากาศหน้าสวนลุมพินี
2563
2562
ยอดผู้ป่วยหน้าใหม่ 100 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
โฆษกศบค. ยังรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวัน โดยมีข้อมูลสำคัญ ๆ ดังนี้
- ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 100 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 96 ราย (55 รายมาจากระบบเฝ้าระวัง และ 41 รายจากการค้นหาเชิงรุก) และอยู่ในสถานที่กักของรัฐ 4 ราย
- ผู้ติดเชื้อสะสม 23,357 ราย ในจำนวนนี้ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,054 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 90 ราย
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 90 เป็นหญิงไทยวัย 53 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัว คือเบาหวาน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และปอดอักเสบ โดยเมื่อพบยืนยันติดเชื้อเมื่อ 2 ก.พ. ก็เข้ารับการรักษา แต่อาการทรุดลงจนเสียชีวิต
แผนกระจายวัคซีน
ศบค. ยังรับทราบรายงานของ สธ. ตามแผนกระจายวัคซีน จนถึงเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 62,941 ราย ในจำนวนนี้ 31,066 ราย เป็นบุคลาการทาการแพทย์และสาธารณสุข
ขณะที่วันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) จะมีวัคซีนซิโนแวคนำเข้ามาล็อตที่ 2 จำนวน 800,000 โดส ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ระบุว่าจะกระจายไปยัง 18 จังหวัดให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะแรก ช่วงที่มีวัคซีนปริมาณจำกัด
กลุ่มเป้าหมายคือ บุคคลากรทางการแพทย์ทั้งรัฐและเอกชน, ผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างทางเดินหายใจเรื้องรังรุนแรง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
ระยะที่ 2 เมือมีวัคซีนเพียงพอ
กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเป้าหมายจากระยะที่ 1 บุคลากรทางการแแพทย์นอกเหนือจากด่านหน้า ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ แรงงานภาคต่าง ๆ