คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ กฤษณา ไพฑูรย์
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร ไต่ระดับลดลงจากระดับ 700-800 คนต่อวัน เหลือหลัก 100 กว่าคนต่อวัน
ทำให้เป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายคนว่า เพราะตรวจเชิงรุกจาก 10,000 คนต่อวัน มาเหลือ 3,000-5,000 คนหรือไม่ ที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อลดลง
มีผู้รู้ในแวดวงสาธารณสุขไขข้อข้องใจให้ทราบว่า ขึ้นอยู่กับการตรวจเชิงรุกว่าไปตรวจบริเวณไหน ? ถ้าตรวจใน “ดงโรงงาน รังโรคเดิม” !! พื้นที่สีแดงในอำเภอเมืองสมุทรสาคร ที่เปรียบเสมือน “รังปลวก” ก็อาจจะเจอเพิ่มอีกเพียบ !
โดยเฉพาะโรงงานปลากระป๋อง และโรงงานผลิตอาหารทะเล บริเวณตำบลท่าทราย และนาดี ที่มีพนักงานรวมกันกว่า 50,000 คน ซึ่งมีการตรวจพบพนักงานติดเชื้อโควิดไป 7,800 คน
เท่ากับพนักงานอีก 40,000 กว่าคน คนที่ตรวจเชื้อไม่พบในรอบแรก ยังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กลาง ต่ำตามลำดับ โดยเชื้ออยู่ระหว่างฟักตัว หรือฟักตัวแล้ว
ดังนั้น ด้วยศักยภาพของทีมตรวจที่มีบุคลากรจำกัด และงบประมาณจำกัด เพราะค่าตรวจ 1,600 บาทต่อคน ประกอบกับเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากสั่งปิดโรงงานที่มียอดส่งออกระดับหลายหมื่นล้านบาทต่อปี
ต้องเลือกใช้วิธีควบคุมไม่ให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ออกไปแพร่กระจายโรค ตามแนวทางป้องกันและควบคุมโรคแบบมีส่วนร่วมในสถานประกอบการ หรือ bubble & seal โดย “ขีดวง” ต.ท่าทราย นาดี และบางส่วนของ ต.บ้านเกาะ เป็นเวลา 28 วัน
bubble & seal พูดง่าย ๆ คือ ให้โรงงานเปิดปกติ แต่ควบคุมแรงงาน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ seal คือ โรงงานมีที่พักให้พนักงาน กิน นอนในโรงงาน ไม่ให้ออกไปข้างนอก 28 วัน
ส่วน bubble คือ โรงงานไม่มีที่พักให้ มีการจัดระเบียบเลิกงานต้องตรงกลับบ้าน ห้ามแวะออกนอกเส้นทาง มีการจัดแถว ตั้งหัวหน้าชุดควบคุมในแต่ละเส้นทาง หากอยู่ไกลมีรถรับ-ส่งให้ โดยมีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกำกับดูแลอีกที
กำหนดกรอบเวลา 28 วัน ไม่ใช่ 14 วัน เพราะการ seal คนจำนวนมากมาอยู่รวมกัน จึงทวีคูณการกักตัว เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจริง ๆ โดยครบ 14 วัน (15 ก.พ.) ตรวจซ้ำอีกครั้ง และนับต่อไปอีก 14 วัน (28 ก.พ.) ตรวจซ้ำอีกครั้ง
หากทำ bubble & seal ได้ผล ! การเคลื่อนย้ายคนจะไม่เกิดขึ้น ทำให้คนไม่สามารถไปแพร่เชื้อที่อื่นได้ จะทำให้สมุทรสาครควบคุมสถานการณ์ได้
แต่ในทางปฏิบัติ bubble ควบคุมได้ยาก เพราะพนักงานอยู่กระจัดกระจาย
ล่าสุดต้องส่งคนไปคุมหอพักทุกแห่ง ขณะเดียวกันต้องปรับแผนให้โรงงานแต่ละแห่งเร่งจัดหาที่พักภายในโรงงาน เพื่อให้พนักงานเข้ามาอยู่รวมกันให้ได้มากที่สุด โดยจะเปลี่ยนสถานที่กักตัว (factory quarantine-FQ) ที่โรงงานใช้กักตัวพนักงานที่ติดเชื้ออยู่ภายในโรงงาน ให้นำพนักงานที่ติดเชื้อย้ายไปอยู่โรงพยาบาลสนามด้านนอก แล้วใช้ FQ ให้พนักงานที่อยู่ข้างนอกเข้ามากักตัวในโรงงานแทน แผนนี้บางโรงงานเริ่มแล้ว
แนวทาง bubble & seal ซึ่งเลือกใช้ภายใต้ข้อจำกัด ! ที่ไม่สามารถ “สั่งปิดโรงงาน” แหล่งต้นตอใหญ่การแพร่เชื้อได้ ทำให้จังหวัดยังต้องปรับแผนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแบบวันต่อวัน
นอกจากกลุ่มเสี่ยงแรงงานกว่า 50,000 คนนี้แล้ว ปรากฏว่ามีกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอีกกลุ่ม คือ คนจากจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะสมุทรสงคราม และเพชรบุรี ที่เดินทางเข้าไปทำงานและค้าขายในสมุทรสาคร แบบไปเช้า-เย็นกลับทุกวัน ซึ่งตลอดเดือนมกราคมถึงปัจจุบันตรวจพบผู้ติดเชื้อจาก 2 จังหวัดนี้ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมีคนสมุทรสงครามเดินทางไป-กลับเพื่อทำงานในโรงงาน และค้าขายในสมุทรสาครถึง 2,426 คนต่อวัน ทำให้คนในครอบครัวของคนเหล่านี้อีก 8,800 คน กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงไปด้วย ที่สำคัญ หลายคนทำงานในดงโรงงานบริเวณ ต.ท่าทราย และนาดี ที่กำลังทำ bubble & seal แถมมีคนสมุทรสาครกว่า 1,000 คน เดินทางไปทำงานที่สมุทรสงคราม
ส่วนเพชรบุรีเพิ่งจะทำการสำรวจตัวเลขคนที่เดินทางไป-กลับเพื่อทำงานและค้าขายในสมุทรสาครหลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
สิ่งที่น่าหนักใจคือ เมื่อไม่สามารถสั่ง “ล็อกดาวน์” จังหวัด ให้เบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นพบการระบาดใหญ่ 18 ธันวาคม 2563 ประชาชนทุกคนเพียงมีจดหมายระบุจุดตั้งต้นและปลายทาง พร้อมลายเซ็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เดินทางเข้า-ออกสมุทรสาครได้อิสระ ยกเว้นจังหวัดที่มีเงื่อนไขให้กักตัว 14 วัน ถ้ามาจากสมุทรสาคร “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น”
ดังนั้น ธงที่ตั้งไว้จะ “ปิดเกม” โควิดสมุทรสาครให้จบภายในสงกรานต์นี้ คงต้องรอลุ้นผลการตรวจภูมิคุ้มกัน (antibody) วันที่ 15 ก.พ.นี้กันอีกที…คงจะทำให้เห็นทิศทางที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เพราะวัคซีนโควิดที่ฝันจะเข้ามานำร่องในสมุทรสาคร ต้องร้องเพลงรอยังไม่รู้ความชัดเจนว่าจะมาเมื่อไหร่