เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 20 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,636 ราย แยกเป็น จากระบบเฝ้าระวังรพ. 1,385 ราย การค้นหาเชิงรุก 522 ราย เรือนจำ 671 รายและติดเชื้อจากต่างประเทศ 58 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,268 ราย ระลอกเดือนเม.ย. สะสม 90,722 ราย เสียชีวิตสะสม 609 คน ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 119,585 ราย เสียชีวิตสะสม 703 คน อัตราเสียชีวิต 0.59% ยังรักษา 42,246 ราย อาการหนัก 1,213 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย
ผู้เสียชีวิต 25 ราย เป็นกรุงเทพฯ 11 ราย ปทุมธานี 3 ราย เชียงใหม่ 2 ราย และจังหวัดละ 1 ราย มีลำปาง ลำพูน ยโสธร ราชบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี ร้อยเอ็ด นครศรีธรรมราช และสมุทรสาคร โดยโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันสูง ไตเรื้อรัง ฯลฯ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อยังพบจากครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ และพบชายมากกว่าหญิงที่ 18: 7 ราย ค่ากลางอายุ 64 ปี สูงสุด 94 ปี การนอนในรพ. ตั้งแต่ทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิตเฉลี่ย 11 วัน นานสุด 29 วัน
ในส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 ราย พบว่า สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ญี่ปุ่น 1 ราย ตูนีเซีย 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย ขณะที่กัมพูชาเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ถึง 54 ราย ซึ่งขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคที่กัมพูชา ดังนั้น คนไทยก็จะกลับมายังประเทศไทย แต่ต้องขอย้ำว่า ขอให้กลับมาถูกต้องตามกฎหมาย อย่าเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ขอให้เข้ามาตามช่องทางถาวรปกติ จะดูแลอย่างดี โดยวันนี้มี 7 รายที่เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอาชีพส่วนใหญ่ระบุว่า มีอาชีพเป็นแอดมินออนไลน์ ส่วนคนทำถูกกฎหมายต้องขอบคุณเป็นอย่างสูง
“แรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายยังพบทุกวัน เมื่อวานยอดรวม 113 ราย อย่างช่วงกลางเดือนบางวันพุ่งสูงเป็น 200-300 ราย ต้องบอกว่าใครกระทำผิด ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เต็มที่ ซึ่งผมจะนำเสนอแบบนี้ทุกวัน และขอปกป้องประเทศไทย ขอให้คนเข้ามาอย่างถูกต้อง ซึ่งนายกฯ ท่านก็กำชับเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีด่านทางน้ำต้องเข้มงวดด้วย ซึ่งวันก่อนมีการพบเคสที่อยู่บนเรือ ก็เป็นความสามารถในการตรวจสอบ ดังนั้น พรมแดนทางธรรมชาติและทางน้ำต้องถูกเพ่งเล็งต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
10จ.ติดเชื้อใหม่สูงสุด
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 10 อันดับ(20 พ.ค.64) พบอันดับ 1 กรุงเทพมหานคร อันดับ 2 เพชรบุรี อันดับ 3 นนทุบรี อันดับ 4 ปทุมธานี อันดับ 5 ชลบุรี อันดับ 6 สมุทรปราการ อันดับ 7 สมุทรสาคร อันดับ 8 จันทบุรี อันดับ 9 นครปฐม และอันดับ 10 พระนครศรีอยุธยา
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกผู้ติดเชื้อในเรือนจำรอบ 24 ชั่วโมงพบ 671 ราย สะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-20 พ.ค. 13,597 ราย โดยตัวเลขสะสมแบ่งพื้นที่กทม.เป็น 8,921 ราย เชียงใหม่ 3,932 ราย นนทบุรี 702 รายและ ฉะเชิงเทรา 42ราย
ส่วนจังหวัดที่พบการติดเชื้อใหม่เป็น 0 ราย ในวันที่ 20 พ.ค. 2564 มี 24 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต ขอนแก่น พัทลุง พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง ร้อยเอ็ด นครพนม ยโสธร น่าน ชุมพร พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงา อำนาจเจริญ มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ และสตูล และมี 2 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่า 100 ราย คือ กทม.และเพชรบุรี
57จ.ติดเชื้อรอบสัปดาห์น้อยกว่า 10ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในรอบสัปดาห์(14-20พ.ค.) จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มี57 จังหวัด โดย มี 3 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ คือ ลำพูน ชัยนาท และหนองบัวลำภู ขณะที่จังหวัดที่พบติดเชื้อ 1-10 ราย รวม 39 จังหวัด ในจำนวนนีแยก เป็น จังหวัดพบผู้ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัด มี 6 จังหวัด คือ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย บึงกาฬ อำนาจเจริญ และสตูล จังหวัดพบผู้ติดเชื้อภายในพื้นที่เฉพาะมี 5 จังหวัด คือ แพร่ อุทัยธานี หนองคาย ตราด และชุมพร และ28 จังหวัดพบติดเชื้อทั้งภายในจังหวัดตัวเองและ ต่างจังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม นครนายก เลย นครพนม มุกดาหาร ยโสธร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สกลนคร ชัยภูมิ มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี พังงา กระบี่ พัทลุง และยะลา
“มีการวิเคราะห์ว่าแต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มียุทธศาสตร์ในการจัดการกับพื้นที่ โดยหาสาเหตุ ซึ่งพบปัจจัยเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา และ มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ก็ไปตรวจตลาดสี่มุมเมือง ขณะที่เชียงรายพบคลัสเตอร์สัมผัสผู้เดินทางมาจากกทม. อย่างศรีสะเกษ ในตลาดและในชุมชนอ.ศรีรัตนะเจอ 13 ราย โดยเราเอาข้อมูลสอบสวนโรคคืนกับพี่น้องในพื้นที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่มีใครเก่งคนเดียว คนที่ดูแลในตลาด ผู้นำชุมชน ประชาชนช่วยกันหมด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
กทม.เฝ้าระวังสูงสุด 31 คลัสเตอร์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่กทม. มีคลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวังรวม 36 คลัสเตอร์ แยกเป็นเฝ้าระวังสูงสุด 31 คลัสเตอร์ใน 14 เขต คือ ตลาดห้วยขวาง/แฟลตดินแดง เขตดินแดง ประตูน้ำ /ชุมชนริมคลองสามเสน /แฟลตรถไฟมักกะสัน เขตราชเทวี แคมป์ก่อสร้าง เขตหลักสี่ สี่แยกมหานาค/ สะพานขาวตลาดผลไม้ เขตดุสิต คลองถมเซ็นเตอร์ /เสือป่า/ วงเวียน 22 /วรจักร/ โบ๊เบ๊ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่พักคนงานก่อสร้าง/ชุมชนแออัดคลองเตย เขตคลองเตย สีลม เขตบางรัก ชาวกินี เขตสาทร ปากคลองตลาด เขตพระนครตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ตลาดศาลาน้ำร้อน เขตบางกอกน้อย ชุมชนโรงปูน เขตห้วยขวาง ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตบางคอแหลม โรงงานน้ำแข็งเขตจตุจักร แคมป์ก่อสร้าง เขตดอนเมือง โกดังสินค้าให้เช่า เขตบางซื่อ และตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ
เฝ้าระวัง 4 คลัสเตอร์ คือ แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตวัฒนา ร้านเฟอร์นิเจอร์ เขตสวนหลวง ราชทัณฑ์ เขตจตุจักร และบริษัทไฟแนนซ์ เขตราชเทวี และพบใหม่ 1 คลัสเตอร์ คือ แคมป์ก่อสร้าง เขตบางพลัด ขณะที่มี 8 แห่งที่ควบคุมการระบาดได้ คือ ชุมชนแออัดซอยสุพจน์อุทิศ เขตทวีวัฒนา ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน บริษัทขายตรงตึกเอ็มไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทรถทัวร์ เขตจตุจักร บริษัทประกันลาดปลาเค้า เขตลาดพร้าว และชุมชนโมรราวรรณ เขตสวนหลวง
แคมป์คนงานทั่วกรุงกว่า 6 หมื่นราย
“จะเห็นได้ว่าพบในแคมป์คนงานหลายคลัสเตอร์ ซึ่งข้อมูลจากกทม.ระบุว่ามีแคมป์คนงานอยู่ครบทั้ง 50 เขต มีคนงานอาศัยราว 62,169 ราย เป็นคนไทย 26,134 รายและแรงงานต่างชาติ 36,035 ราย ดังนั้น การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคมในแคมป์คนงานมีความสำคัญสูง สำนักเขตแต่ละแห่งจะต้องได้รับความร่วมมือสูงมาจากผู้ประกอบการในการดำเนินการ”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงพื้นที่ระบาดกทม.
ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดในกทม.ที่มีการรายงานวันที่ 20 พ.ค. อาทิ 1.ปากคลองตลาด ผู้ค้าและแรงงานต่างด้าวในตลาดติดเชื้อเป็นกลุ่มแผงตลาดที่ติดๆกันเป็นกลุ่มก้อนแรก รอบๆตลาดมีตึกแถวให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวลักษณะ 2. สีลมบางรักผู้ค้าพลอยในตลาดพลอยบางรัก เชื่อมโยงคลัสเตอร์จันทบุรี มีชาวแอฟริกันหลายราย มีการสัมผัสในร้านขายพลอย ร้านขายอาหาร มีการพักอาศัยในห้องเช่า คอนโดมิเนียมหลายแห่ง ในย่านบางรัก สาทรและใกล้เคียงมีการเดินทางเชื่อมโยงกันเพื่อค้าขาย 3. ตลาดห้วยขวางดินแดง สุขาภิบาลตลาดไม่ดี อากาศไม่ถ่ายเท ตลาดแบ่งเป็นโซนนอกอาคารกับในอาคารผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทำงานอยู่โซนในอาคาร 4.ตลาดบางกะปิ ตลาดมีความแออัด ข้างหลังตลาดเดินเชื่อม 5 ตลาดย่อยถึงกันได้ 5.แคมป์คนงานก่อสร้าง มีความแออัด คนงานใช้ห้องน้ำร่วมกัน อยู่รวมตัวกันและทำกิจกรรมร่วมกัน
มาตรการที่ดำเนินการในการเฝ้าระวังในกลุ่มคลัสเตอร์เฝ้าระวังสูงสุดและกลุ่มเฝ้าระวัง คือ ลงสอบสวนโรคเพิ่มและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมากักกัน ติดตามประเมินจำนวนคนต่างด้าวในพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่ม ติดตามคนงานก่อสร้างที่พักอยู่นอกแคมป์ ฉีดวัคซีนให้ประชาชน ปิดตลาดทำความสะอาดสถานที่ ปิดสถานที่ที่พบผู้ป่วย เช่น แคมป์ โรงงานน้ำแข็ง โกดัง และลงตรวจกลุ่มเสี่ยงคนต่างด้าวที่ทำงาน ส่วนคลัสเตอร์ที่พบใหม่คือปิดสถานที่และลงสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อวางแผนกำหนดขอบเขตการตรวจเชิงรุกต่อไป
แรงงานต่างด้าวกทม.ปริมณฑลนับล้านคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า คณะที่ปรึกษาศบค.ที่มี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานได้ห่วงใยและเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการประมาณการแรงงานต่างด้าวถูกกฏหมาย ในกทม.และปริมณฑล ราว 1.3 ล้านคน อยู่ในกทม.ราว 5.8 แสนคน สมุทรสาคร 2.3 แสนคน สมุทรปราการ 1.6 แสนคน ปทุมธานี 1.3 แสนคน นนทบุรี 9.9 หมื่นคนและนครปฐม 9.3 หมื่นคน และแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมายทั่วประเทศประมาณการที่ 1 ล้านคน เพราะฉะนั้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรจะเกิดปัญหาขึ้นจาก 3 ข้อ คือ 1.ผู้ที่ไม่ถูกกฎหมายเป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง หลบหนีเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อยๆ 2.แรงงานไม่ถูกกฏหมายะะอยู่กับแรงงานที่ถูกกฏหมายและเกาะกลุ่ม และ3.แรงงานมีที่พักแออัด พื้นที่จำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำสู่การควบคุมโรคได้ยาก