ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยกลับมาไม่แน่นอนอีกครั้งหลังเกิดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ Omicron (โอมิครอน/ โอไมครอน) ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อและประสิทธิภาพวัคซีนที่ใช้อยู่ ขณะที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มการเดินทาง อาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 โดยเฉพาะไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุ ภายใต้มาตรการการเดินทางและสุขอนามัยต่างๆ ที่คุมเข้มมากข้นในหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าโลกมีความกังวลความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แม้ยังไม่มีผลการศึกษาแน่ชัด การประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดของไวรัสจะขึ้นกับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพวัคซีนและความรุนแรงของโรค
ณัฐพรระบุว่า สำหรับไวรัส Omicron ที่เพิ่งพบชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยในช่วงปลายปี 2564 นี้ คิดว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Omicron มากนัก อีกทั้ง Delta เป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในไทย และการติดเชื้อลดลงอย่างมาก สำหรับ Omicron ที่เรารู้กันตอนนี้คือแพร่กระจายได้เร็ว 2.5 เท่าและมีการกลายพันธุ์หลายจุด มีข้อสันนิษฐานว่าอาจหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ความรุนแรงของอาการเมื่อติดไวรัส Omicron นั้นยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะสร้างอาการรุนแรงหรือน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา รวมทั้งวัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกยังมีประสิทธิผลหรือไม่
สิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับ Omicron เพราะมีการกลายพันธุ์ถึง 30 กว่าจุด ทำให้วันรุ่งขึ้น WHO ประกาศให้ Omicron เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลตามหลัง Delta หลายประเทศก็ระงับการเดินทางจาก 7-8 ประเทศจากแอฟริกา ซึ่งก็มี 3 ประเทศที่ออกมาตรการเข้มข้นคือ ญี่ปุ่น อิสราเอล โมรอคโคที่ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันค่อนข้างสูง อัตราการฉีดของอิสราเอลเกิน 100% ไปนานแล้ว ญี่ปุ่นอยู่ที่ 80% โมรอคโคอยู่ที่กว่า 60% สำหรับไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 60% ต้องดูต่อไปว่า ผลการศึกษาจาก Omicron จะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ดี หลักฐานและข้อมูลจากผู้ที่ได้รับเชื้อ Omicron มีอาการค่อนข้างน้อยและยังไม่เจอผู้เสียชีวิต แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่า Omicron จะไม่สร้างผลกระทบอะไรทั้งในแง่เศรษฐกิจและสาธารณสุข จากภาพด้านบนระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจากแอฟริกาใต้พุ่งสูงขึ้นเร็วอย่างมากหลังพบผู้ติดเชื้อ ขณะที่ในยุโรปยังพบผู้ติดเชื้อหลักสิบและหลักร้อยและในอังกฤษ-เยอรมนีก็เริ่มมีการระบาดกลับมาอีกระลอกหนึ่งแล้ว สรุปได้เบื้องต้นว่า Omicron แพร่กระจายเร็วและยังมีอาการน้อยอยู่ แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ทั้งหมด ต้องพิจารณาข้อมูลในลำดับถัดไป
มาตรการในการตอบสนองของภาครัฐ การแพร่ระบาดในไทยระลอกแรก เป็นสิ่งที่ทั่วโลกไม่เคยเจอ มาตรการตอบสนองจึงเป็นการล็อคดาวน์ ซึ่งระลอกนี้มีผู้ติดเชื้อราว 100 คน มีการติดเชื้อแบบกระจุกตัว ไม่กี่จังหวัด และยังมีการปิดประเทศไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ใช้การกักตัว 14 วัน ทำให้ไตรมาสนั้นเศรษฐกิจหดตัวค่อนข้างมาก มีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และปรับลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งจาก 1.0% เป็น 0.5%
จากนั้นในระลอกเดือนเมษายนที่เริ่มมีเดลตาเข้ามา การแพร่ระบาดเป็นหลักหมื่น กระจายทั่วประเทศ มีการล็อคดาวน์บางพื้นที่และมีการทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบ Phuket Sandbox และมีการทยอยฉีดวัคซีน
ด้วยเหตุนี้ KBank จึงแบ่งออกเป็น 2 ฉากทัศน์ กรณีที่ดีคือ Omicron มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา และวัคซีนมีประสิทธิผลที่ลดอาการของโรคได้ มีแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดที่คล้ายคลึงกับที่ผ่านมา คือไม่มีการ lockdown ในประเทศและน่าจะมีระยะเวลาระบาดไปจนถึงปลายไตรมาสแรกของปีหน้า ปี 2565
กรณีที่แย่คือ ถ้า Omicron มี ผลการศึกษาออกมาเยอะและพบว่า ความรุนแรงของโรคเทียบเท่ากับเดลตาและทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกตอนนี้ลดลงอย่างมาก อาจต้องมีการตอบสนองควบคุมโรคระบาดทั่วโลก อาจมีการกักตัว 14 วันหรือน้อยกว่า มาตรการล็อคดาวน์ในประเทศอาจจะต้องมีความจำเป็น แต่คงไม่ล็อคดาวน์ทั้งประเทศและอาจมีการควบคุมในบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมองว่าจะไม่มีการกู้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพิ่ม อาจใช้เงินที่เหลือดูแลเศรษฐกิจไป แต่ถ้ามันแย่มาก รัฐเห็นความจำเป็นว่าต้องกู้เพิ่มเติมก็คาดว่าจะทำได้เพื่อเอาเงินมาเยียวยา
ปีหน้าถึงแม้จะไม่มีเรื่อง Omicron เข้ามา เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเจอเรื่องเงินเฟ้ออยู่แล้ว ปีหน้า เงินเฟ้อน่าจะเจอกันทั่วโลก ไทยอาจจะเจอเรื่องเงินเฟ้อ หลักๆ คือราคาน้ำมันด้วย ของสหรัฐฯ มีคนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เงินเฟ้ออาจไม่ใช่ชั่วคราวแล้ว ถ้ากรณีที่ดีคือ Omicron ไม่ได้รุนแรงมาก เศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัว ราคาน้ำมันจะเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 77 usd ต่อบาร์เรลล์ ตามฐานการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก แต่ถ้า Omicron รุนแรง จะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 72 usd ต่อบาร์เรลล์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะลดลง อันนี้ตั้งสมมติฐานว่าราคาน้ำมันเป็นไปตามพื้นฐานของเศรษฐกิจโลก ถ้า Omicron รุนแรง น้ำมันราคาแพง เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเปราะบางอยู่แล้วจะเป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า
GDP ไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าที่คาดและมีการปรับเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะปิดได้ที่ 1% สำหรับปีหน้า ถ้า Omicron ไม่รุนแรง เศรษฐกิจไทยจะโตที่ 3.7 (ซึ่งรวมเงินเฟ้อและนักท่องเที่ยวแล้ว) กรณีที่แย่ GDP ไทยจะแย่ลงที่ 2.8% ถ้า Omicron รุนแรง เศรษฐกิจไทยโตเกือบ 3% KBank คิดว่าเดลตาน่าจะแย่กว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือวัคซีนยังพอมีประสิทธิผลบ้างแต่อาจจะลดลง ภาพรวมการแพร่ระบาดปีนี้อาจจะแย่กว่าปีหน้า GDP น่าจะโตที่ 2.8% และมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่ 2 ล้านคน เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.1% กรณีที่แย่ เงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.6%
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการขาย ระบุว่า หลายประเทศระมัดระวังในการตรวจสอบคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ไทยก็เช่นกัน ในมุมมองที่ทางการยังไม่ได้เปลี่ยนแผนเรื่องการจัดงานช่วงปลายปี หรือไม่ยกระดับเพิ่มเติมจากปัจจุบัน ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีที่มีเทศกาลปีใหม่ นักท่องเที่ยวจะยังเดินทางเข้าไทยในช่วงธันวาคมอาจทำได้อย่างน้อยเท่ากับพฤศจิกายนหรือประมาณ 1 แสนคน ถ้านับรวม 11 เดือนแรกคือ 2 แสนคน ถ้าปิดปี 2564 นักท่องเที่ยวมาไทยน่าจะรวมอยู่ที่ 3.5 แสนคน เป็นมุมมองที่บวกมากขึ้น
ภาพที่มองในปี 2565 ประเด็นสำคัญคือไวรัส Omicron ที่มีความไม่แน่นอนอยู่ ในกรณีดี ถ้าสายพันธุ์ Omicron ไม่รุนแรง การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเดินหน้าต่อได้ไม่สะดุด หลายภาคส่วนจะกระตุ้นให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไทย มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวมาไทยแตะ 4 ล้านคน ถ้า Omicron รุนแรง ทำให้การท่องเที่ยวสะดุด อาจทำให้ครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวมาไทยอาจจะต้องชะงักและเร่งตัวช่วงปีหลัง คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยลดระดับที่ 2 ล้านคน ไม่ว่าจะแย่หรือดี 2-4 ล้านคนก็ถือว่าตัวเลขดีกว่าปี 2564 คือทำได้ 3.5 แสนคนเท่านั้น แต่ก็ถือว่าห่างไกลกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดที่ทำได้กว่า 40 ล้านคน
ธุรกิจท่องเที่ยวยังเปราะบางสูง ต้องติดตามประเด็น Omicron ต่อไป รวมทั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวหลังจากนี้ จะมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังมีการแข่งขันกับประเทศอื่นที่พยายามจะดึงดูดนักท่องเที่ยวไปประเทศเขา ยังถือเป็นธุรกิจที่น่าเป็นห่วงและเปราะบางสูง ค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน ทำให้เราสูญรายได้ราว 8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นปี 2565 ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต้องได้รับการดูแลและยังเปราะบางสูงต่อไป
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุว่า ในภาคการเงินนั้น เรื่องผลกระทบ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของวัคซีนเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศต้องติดตาม อย่างจีนมีเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงมีทิศทางผ่อนคลายทางการเงิน ถ้าเงินเฟ้อมา (ตามภาพแผนที่ด้านบน ถ้าออกสีส้ม ถ้าความรุนแรงของเงินเฟ้อมาก สีส้มจะยิ่งมาก) ดังนั้น ประเทศเหล่านั้นต้องจัดการปัญหาเฉพาะหน้านี้ก่อน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปี 2564 ที่มีการฉีดวัคซีนเร็ว มีการจ้างงานดีขึ้น การว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นในสหรัฐอเมริกา หลายประเทศมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว และมีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่องในปี 2565 คือรัสเซีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ หลายประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า
กรณีดีที่ผลกระทบจาก Omicron ธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟด จะทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตามแผน ตลาดประเมินโอกาสขึ้นดอกเบี้ยของเฟดปี 2565 ถึง 2-3 ครั้ง ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ สูงกว่าไทยช่วงปลายปี และจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้มีโอกาสอ่อนค่าในครึ่งปีแรก กรณีแย่ การระบาดของ Omicron จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้เงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก
ปีหน้าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่เงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างกว้าง ปี 2562 อยู่ที่ 2.6 บาท ปี 2563 กว้างขึ้นอยู่ที่ 3.42 บาท และต้นปี 2564 กว้างขึ้นอีกอยู่ที่ 4.15 บาท เพราะสถานการณ์มีปัจจัยบวกและปัจจัยลบกับเงินบาท ผลจาก Omicron เข้ามาแล้ว เรามองว่า ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า Fed จะถอยออกจาก QE อาจจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ถ้า Fed ขึ้นดอกเบี้ยจริง
ในกรณีที่ดี เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงที่ Fed กังวล การปรับอัตราดอกเบี้ยจะไปได้ 2-3 ครั้ง ทำให้เกิดเงินทุนไหลออก เงินบาทจะผันผวนในกรอบที่อ่อนค่า ครึ่งแรกของปี เงินบาทจะอ่อนค่าอยู่ที่ 33.25-34.25 บาท มีความเป็นไปได้ว่า แรงกดดันต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะเพิ่มขึ้น
แต่ถ้ากรณีที่แย่ Omicron กระทบการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สิ่งที่จะตามมา รายรับจากที่เรามองว่า การท่องเที่ยวจะนำเงินให้ไทย และมีการเกินดุลบัญชีสะพัดที่ดี ดังนั้น เงินบาทอาจจะอ่อนค่ากว่ากรณีดีด้วยซ้ำ ไปอยู่ที่ 34.25 บาทได้ ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะเป็นไปได้ยาก
แต่ไม่ว่ากรณีไหน ธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นในปี 2565 แต่แนวโน้มต้นทุนการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อและนักลงทุนรายย่อยไทยคงจะยังแสวงหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2565 เป็นอีกปีที่ขับเคลื่อนด้วยความระมัดระวังเพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง สินเชื่อขยายตัวในกรอบคาดการณ์ 4.0-5.5% ชะลอลงจากปี 2564 สินเชื่อขยายตัวในกรอบคาดการณ์ 4.0-5.5% ชะลอลงจากปี 2564 ส่วน NPL ยังเป็นขาขึ้นเข้าหาระดับ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี2565 เทียบกับราว 3.20% ณ สิ้นปี 2564
- กสิกรไทยชี้ น้ำท่วม 2564 กระทบผลผลิตข้าวนาปี คาดมูลค่าเสียหายราว 6,300-8,400 ล้านบาท
ที่มา – KBank
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา